เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริปก พิศสุวรรณ รองผู้อำนวยการ บพค. นางสาวชนินาถ ศรีเพ็ญ และ ดร.ศุภฤกษ์ บุพศิริ นักวิเคราะห์อาวุโส กล่าวบรรยายพิเศษแก่คณะผู้เข้าอบรมโครงการ Research Management and Capacity Building (RMCB) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ (TICA) กับสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ภายใต้แผนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย – ลาวระยะที่ 3 (พ.ศ. 2563 – 2565) ใน 7 สาขา ได้แก่ 1) การเกษตร 2) การศึกษาและกีฬา 3) สาธารณสุข 4) การค้า อุตสาหกรรมและท่องเที่ยว 5) สิ่งแวดล้อม 6) การพัฒนาสังคมและธรรมาภิบาล และ 7) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการจัดการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และบุคลากรในระดับอุดมศึกษาของกรมการศึกษาขั้นสูง กระทรวงการศึกษาและกีฬาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการมาแล้วเป็นปีที่ 2 (รุ่นที่ 2) โดยมีคณะผู้เข้าอบรมทั้งสิ้น 20 คน ณ อาคาร Knowledge Exchange (KX) ถนนกรุงธนบุรี เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมปองฯ ได้กล่าวถึง ความเป็นมาของการปฏิรูปจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (เดิม) มาเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือกระทรวง อว. ในปัจจุบันที่เป็นการผนึกกำลังเอาหน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาควบรวมกับทบวงมหาวิทยาลัยภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยริเริ่มตั้งแต่ปี 2562 มาจวบจนปัจจุบันเป็นระยะเวลา 5 ปีแล้ว ทำให้โครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ที่มุ่งเน้นสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญให้ประเทศมีขีดความสามารถการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้นด้วยการใช้ ววน. เป็นฐานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สนอว.) เป็นผู้กำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาประเทศ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อได้รับนโยบายในการขับเคลื่อนระบบ ววน. แล้ว จะมีหน่วยงานที่ขับเคลื่อนและจัดสรรเงินทุนในกองทุนส่งเสริม ววน. เรียกว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ให้แก่หน่วยงานบริหารและจัดการทุน (Funding agency) และหน่วยงานอื่น ๆ ที่ได้รับผิดชอบตามแผนงานหรือประเด็นวิจัยที่กำหนด ซึ่งในระดับนี้ หน่วยงานให้ทุนด้าน Strategic Fund (SF) จะคอยบริหารและจัดการทุนให้เป็นไปตามกรอบของแผนงาน ภารกิจให้บรรลุตามเป้าหมาย พร้อมทั้งส่งมอบผลผลิตและผลลัพธ์ที่สำคัญ (Key results, KRs) แก่ สกสว. ต่อไป ปัจจุบันมีหน่วยงานให้ทุนภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริม ววน. ทั้งสิ้น 9 หน่วยงานได้แก่ บพค. บพข. บพท. วช. สนช. ศลช. สวก. สวรส. และ สวช. ซึ่งแต่ละหน่วยงานให้ทุนจะรับผิดชอบดูแลตามแผนงานต่าง ๆ ที่ทางกองทุนฯ และ สกสว. กำหนด เพื่อขับเคลื่อนระบบ ววน. ให้สามารถเป็นกลไกสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นประเทศรายได้สูงให้ได้ นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมปองฯ ยังกล่าวเสริมอีกว่า “สปป.ลาว เป็นประเทศบ้านพี่เมืองน้องกัน การพัฒนาความเจริญทั้งในแง่บุคลากรและวัตถุก็ดี โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นก็ดี เราต้องเดินไปข้างหน้าพร้อม ๆ กัน มิใช่เพียงแค่นำพาเพียงตัวเรา แต่การพัฒนาประเทศรอบบ้านต้องเดินไปพร้อมกันด้วย เพื่อการพัฒนาภูมิภาคอาเซียนของเราทุกคน”
ในการนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริปกฯ ยังได้กล่าวบรรยายเสริมอีกว่า บพค. เป็น 1 ใน 9 หน่วยงานให้ทุนที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือให้มีระบบนิเวศที่ครบทั้งฝั่ง Demand และ Supply ครบ Value chain ในรูปแบบ Consortium-driven platform เพื่อให้การใช้ ววน. เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและมีผลกระทบที่สำคัญ ตามความมุ่งหมายที่ประเทศต้องการให้เงินที่ลงทุนไปนั้นมีผลตอบแทนที่คุ้มค่าที่สุด โดยเฉพาะการสร้างและพัฒนาคนให้มีทักษะและสมรรถนะสูง พร้อมทำงานได้ทันที นอกจากนี้ บพค. ยังยึดมั่นในการส่งเสริม ววน. ด้วยการกำหนดโจทย์วิจัยตามเป้าหมายและความต้องการของประเทศเป็นสำคัญ อันเป็น Agenda-based research และมากไปกว่านั้นคือ Target-based research อันจะเป็นการสนับสนุนให้งบประมาณของประเทศมีความคุ้มค่ามากที่สุด