บพค. ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนเสริมหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนสำหรับการเป็น Carbon Verifier ในภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับการรับรองจากองค์กรการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ ผู้ทรงคุณวุฒิ บพค. พร้อมด้วยนักวิเคราะห์อาวุโส บพค. เข้าร่วมพิธีเปิด “โครงการการพัฒนาบุคลากรวิจัยสมรรถนะสูงในหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนสำหรับการเป็น Carbon Verifier ในภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับการรับรองจากองค์กรการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก” ประจำปีงบประมาณ 2567 ที่ได้รับการสนับสนุนจาก บพค. ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ณ ห้องวิภาวดี บอลลูม ซี โรงแรมเซนทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ
โอกาสนี้ ดร.ภาวดีฯ ได้ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยกล่าวว่า “ในปัจจุบันหลายหน่วยงานเริ่มตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้มีการตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 และเพื่อให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความน่าเชื่อถือ แม่นยำ จะต้องมีการประเมินและตรวจสอบว่ามีความถูกต้องและเป็นมาตรฐานกับสากล ซึ่งในปีงบประมาณ 2565 และ 2566 นั้น บพค. ได้ริเริ่มให้การสนับสนุนทุนโครงการการพัฒนากำลังคนสำหรับระบบทวนสอบก๊าซเรือนกระจกในประเทศและระดับสากลเพื่อตอบสนองเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ มุ่งพัฒนากำลังคนที่มีทักษะด้านการประเมิน การทวนสอบ และการเพิ่มหน่วยงานที่สามารถรับรองระบบงานเพื่อรับรองรายงานก๊าซเรือนกระจกที่เป็นมาตรฐานสากลหรือเทียบเท่าได้ จึงเป็นที่มาของโครงการฯ ต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2567 นี้ ซึ่งมีการยกระดับเนื้อหา/หลักสูตรให้เป็นสากลมากขึ้นเพื่อยกระดับสรรถนะของบุคลากรวิจัยสมรรถนะสูงของบุคลากรในหน่วยงานภาคเอกชนให้มีทักษะสูงด้านการเป็น Carbon Verifier ในภาคอุตสาหกรรม รองรับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในระดับสากลหรือเทียบเท่า”

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช อุศุภรัตน์ รองหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านนิเวศเศรษฐกิจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ ได้นำเสนอผลการดำเนินงานโครงการฯ ในภาพรวมว่า ในปัจจุบัน กำลังคนด้าน Carbon Verifier ของประเทศ มีประมาณ 80 คน จาก 10 หน่วยงาน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศที่มีต้องการ Carbon Verifier ประมาณ 2,000 คน นอกจากนี้ ปริมาณหน่วยงานทวนสอบก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดเช่นกัน จากการดำเนินโครงการฯ ปี 2566 ที่ผ่านมา สามารถพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านการประเมินการรายงานก๊าซเรือนกระจก จำนวน 100 คน ด้านการทวนสอบก๊าซเรือนกระจกให้มีคุณสมบัติพร้อมเป็นผู้ทวนสอบได้ จำนวน 44 คน และเพิ่มหน่วยงานในประเทศไทยให้สามารถรับรองระบบงานเพื่อรับรองรายงานก๊าซเรือนกระจกที่เป็นมาตรฐานสากล หรือเทียบเท่าได้ 18 หน่วยงาน โครงการฯ นี้ได้รับการสนับสนุนต่อเนื่องจาก บพค. โดยมุ่งเน้นปรับปรุงหลักสูตรบางส่วน เพื่อตอบสนองกับเหตุการณ์ และเพิ่มเนื้อหาให้กับผู้ที่สนใจ ผลักดันการจดทะเบียนก่อตั้งสมาคมวิชาชีพ และผลักดันหลักสูตรให้เข้าไปสู่ภาคอุดมศึกษา และยกระดับสรรถนะของบุคลากรสมรรถนะสูงของบุคลากรในหน่วยงานภาคเอกชนให้มีทักษะสูงด้านการเป็น Carbon Verifier ในภาคอุตสาหกรรม และยกระดับเนื้อหาในหลักสูตรให้เป็นระดับสากลมากขึ้น ซึ่งประกอบด้วย หลักสูตรการฝึกอบรม 4 หลักสูตร ได้แก่

  • หลักสูตร 1 หลักสูตรอบรมเพื่อการประเมินก๊าซเรือนกระจกระดับองค์กรและผลิตภัณฑ์
  • หลักสูตร 2 หลักสูตรอบรมผู้ทวนสอบ
  • หลักสูตร 3 หลักสูตรพัฒนาผู้ตรวจสอบความให้มีองค์ความรู้พร้อมสำหรับการรับรองระบบงาน
  • หลักสูตร 4 หลักสูตรพื้นฐานด้านก๊าซเรือนกระจกบนระบบออนไลน์ (Platform Online)

มากไปกว่านั้น โครงการยังได้ดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นต้น ในการในการพัฒนาหลักสูตร และส่งผู้ปฏิบัติงานหรือผู้แทนเข้าร่วมการอบรมหลักสูตรภายใต้ โครงการฯ การผลักดันให้เกิดสมาคม หรือสภาวิชาชีพ ด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
นอกจากนี้ ในงานพิธีเปิดยังได้เชิญตัวแทนผู้เข้าร่วมโครงการที่ผ่านการอบรมในหลักสูตรภายใต้โครงการฯ ที่ผ่านมา ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมอบรมหลักสูตรของโครงการฯ ว่าเป็นหลักสูตรที่มีประโยชน์ สามารถนำไปพัฒนาองค์กรและกำลังคนที่จะมารองรับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศได้

อย่างไรก็ตาม บพค. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการฯ นี้ มีส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาบุคลากรสมรรถนะสูงด้านการเป็น Carbon verifier ที่เป็นกำลังคนที่สำคัญในองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เล็งเห็นเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านการประเมินและการทวนสอบก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ซึ่งช่วยลดภาระหน้าที่ของ Carbon Verifier ในปัจจุบันได้ และนำไปสู่การส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถรับรองระบบงานเพื่อรับรองรายงานก๊าซเรือนกระจกที่เป็นมาตรฐานสากลหรือเทียบเท่าได้เพิ่มากขึ้น หลักสูตรที่พัฒนาขึ้นนับเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนากำลังคนในสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืน เพื่อเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน
และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา
การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)

Program Management Unit for Human Resources & Institutional
Development,Research and Innovation (PMU-B)

319 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน
เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
02-109-5432 ต่อ 841
[email protected]

ช่องทางการติดต่อสารบรรณของหน่วยงาน :
[email protected]

      ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่