บพค. ร่วมติดตาม “ศุภมาส” ลงพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ก่อนประชุม ครม.สัญจรโคราช ชูนโยบาย “โดรนแก้จนเพื่อการเกษตร” ลดการสัมผัสสารเคมี ลดต้นทุนให้เกษตรกร ประหยัดทั้งเวลาและแรงงาน เผยอาจใช้รูปแบบ “โดรนคนละครึ่ง” รัฐช่วยจ่ายครึ่งนึง นำร่องชัยภูมิ พร้อมระดมเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ปุ๋ย-สารชีวภัณฑ์ การเกษตรแม่นยำ ช่วยเกษตรกร

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 67 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร กลุ่มพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ที่วัดบางอำพันธ์ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ โดยมี พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.อว. นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว. และศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวง อว. เข้าร่วม โดยมีนายอนันต์ นาคนิยม ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ชัยภูมิ เขต 3 นางสาวสุรีวรรณ นาคาศัย คณะที่ปรึกษานายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ผู้นำชุมชน ผู้นำเกษตรกรและประชาชนให้การต้อนรับและเข้าร่วม รับฟังนโยบายการนำงานวิจัย วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมาแก้จน โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีทุกหน่วยงานในกระทรวง อว. นำงานวิจัยและนวัตกรรมพร้อมใช้มาจัดแสดง ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก
โดย น.ส.ศุภมาสฯ กล่าวว่า ชัยภูมิ ถือเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่การเกษตรและเกษตรกรอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ก็มีปัญหาในเรื่องของการทำการเกษตร เช่น เรื่องของแหล่งน้ำ การใช้สารเคมีในการทำการเกษตร เป็นต้น ตนจึงได้สั่งการให้ผู้บริหารและหน่วยงานในกระทรวง อว. ทุกหน่วยร่วมกันระดมสมองและหาวิธีการแก้ปัญหาให้พี่น้องเกษตรกรมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยนโยบายเร่งด่วนคือ การจัดหาเครื่องมือช่วยทำการเกษตรที่จัดอยู่ในกลุ่มเครื่องมือ อุปกรณ์อัจฉริยะ และหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายภาครัฐ ซึ่งจากที่ตนคิดเร็วๆ คือนโยบาย “โดรนแก้จนเพื่อการเกษตร” เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสหรือผลกระทบจากสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร ลดต้นทุนให้กับเกษตรกร ประหยัดทั้งเวลาและแรงงาน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

รมว.อว. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ รูปแบบของนโยบายโดรนแก้จนเพื่อการเกษตร จะใช้โดรนที่มีอยู่แล้วจากหน่วยงานในกระทรวง หรือเป็นเครือข่ายผู้ประกอบการจากหน่วยงานที่ให้ทุนมาตอบโจทย์นโยบายโดรนแก้จนเพื่อการเกษตร โดยอาจเป็นการช่วยค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายในการใช้โดรนสำหรับพื้นที่ทำการเกษตรของเกษตรกรแต่ละคน หรืออาจเรียกได้ว่านโยบาย “โดรนคนละครึ่ง” เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ของรัฐบาล ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยปัจจุบันกระทรวง อว.มีนวัตกรรม “โดรนพ่นสารเคมีการเกษตรความแม่นยำสูง” ที่ผลิตโดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคที่มีอยู่ทั่วประเทศ รวมถึงการให้งบสนับสนุนการวิจัยหรือทุนแก่ผู้ประกอบการทั้งจาก บพท. เป็นต้น ซึ่งมีราคาถูกกว่า 10 เท่าจากท้องตลาด ลดการสัมผัสสารเคมีโดยตรง ได้งานมากกว่าแรงคน 40 เท่า ทั้งนี้ ตนได้มอบให้ผู้บริหารกระทรวง อว.ไปศึกษาระเบียบและวิธีการให้ถูกต้องและเป็นไปเพื่อประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกรอย่างแท้จริงต่อไป

“โดยหลังจากมีการศึกษาถึงรูปแบบวิธีการที่จะนำมาช่วยเหลือเกษตรได้แล้ว นโยบาย “โดรนแก้จนเพื่อการเกษตร” อาจจะนำมาใช้นำร่องที่ จ.ชัยภูมิ เป็นพื้นที่แรก ถือเป็นการนำเทคโนโลยีมารับใช้ประชาชนตามนโยบายของกระทรวง อว. และตนที่ต้องการแก้ปัญหาให้พี่น้องเกษตรกร โดยการใช้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมาแก้จนอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ในช่วงนี้ที่เป็นฤดูการทำเกษตรกรรม นอกจากเรื่องโดรนแก้จนแล้ว กระทรวง อว. ยังจะนำในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เรื่องของปุ๋ยและสารชีวภัณฑ์ เรื่องการเกษตรแม่นยำ เรื่องของนวัตกรรมเพื่อเกษตรอินทรีย์ เรื่องของชุดตรวจโรคพืชและสัตว์ เป็นต้น มาสนับสนุนและช่วยเหลือเกษตรกรให้ครอบคลุมทุกด้าน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของภาคการเกษตรให้กับเกษตรกร“ น.ส.ศุภมาส กล่าวและว่า
“ที่สำคัญ การลงพื้นที่ครั้งนี้ กระทรวง อว. ได้นำหน่วยแพทย์ อว. เคลื่อนที่ โดยโรงพยาบาล ศรีนครินทร์ ม.ขอนแก่น มาให้บริการตรวจสุขภาพประชาชนจำนวนมากกว่า 1,250 คนโดยเน้นการตรวจคัดกรองในโรคที่มีความเสี่ยง ที่พบบ่อยในภาคอีสาน เช่น ตรวจพยาธิใบไม้ในตับ ตรวจมะเร็งท่อน้ำดี และตรวจโรคไต รวมถึงหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ ตรวจฟันและขูดหินปูน โดยมุ่งหวังให้ประชาชนในพื้นที่มีโอกาสได้เข้าถึงบริการสุขภาพ และมีสุขภาพที่ดีด้วย“

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน
และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา
การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)

Program Management Unit for Human Resources & Institutional
Development,Research and Innovation (PMU-B)

319 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน
เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
02-109-5432 ต่อ 841
[email protected]

ช่องทางการติดต่อสารบรรณของหน่วยงาน :
[email protected]

      ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่