บพค. ผลักดันการยกระดับทักษะและความสามารถการเป็นนักรังสรรค์กลิ่นรส (Flavorist) เสริมแกร่งเอกลักษณ์อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มไทยผ่านโครงการ Flavor Academy ของเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis)

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นำโดย ดร.ศุภฤกษ์ บุพศิริ และ ดร.ศรัญญา แข้คำ นักวิเคราะห์อาวุโส ทีมพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงและการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยของประเทศ เข้าร่วมติดตามการดำเนินโครงการ “การพัฒนาทักษะ และเพิ่มศักยภาพบุคลากรด้านเทคโนโลยีกลิ่นรส เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นนักรังสรรค์กลิ่นรสมืออาชีพสำหรับอุตสาหกรรมกลิ่นรสในประเทศไทย” โดยมี นางสาวสุธีรา อาจเจริญ สังกัด เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งมีการจัดอบรมยกระดับสมรรถนะการเป็นนักรังสรรค์กลิ่นรสที่ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มรูปแบบ Intensive course โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจาก Institut supérieur international du parfum, de la cosmétique et de l’aromatique alimentaire (ISIPCA) สถาบันชั้นนำระดับโลกด้านน้ำหอม เครื่องสำอาง และสารให้กลิ่นรสในอาหาร การเรียนการสอนเน้นด้านการให้ความรู้ด้านวัตถุดิบ (Raw Materials) การพัฒนาสูตร (Formulation) การวิเคราะห์ (Analysis) และเทคนิคการควบคุมคุณภาพ (control techniques) รวมถึงการให้ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ในปัจจุบัน ISIPCA มีผู้เชี่ยวชาญ ผู้สอนกว่า 100 คน และหน่วยงานการศึกษาเป็น Partners กว่า 12 แห่ง รวมถึงมีบริษัทกว่า 400 บริษัทที่ให้ความเชื่อถือ และส่งบุคลากรมาฝึกอบรมที่ ISIPCA ที่มีที่ตั้งอยู่ที่เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส มาจัดการถ่ายทอดความรู้อย่างเข้มข้นตลอดระยะเวลา 10 วัน ระหว่างวันที่ 10 – 21 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมสุโกศล กรุงเทพฯ และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตพญาไท กรุงเทพฯ

โอกาสนี้ น.ส.สุธีราฯ ได้กล่าวว่า โครงการนี้มุ่งเน้นการยกระดับทักษะและสมรรถนะให้สูงขึ้นผ่านการ Up-skill/Re-skill ด้านการรังสรรค์กลิ่นรสในอาหารแก่ผู้เข้าฝึกอบรมทั้งจากมหาวิทยาลัยและสถาบันภาคเอกชนกว่า 17 หน่วยงาน ซึ่งเป็นโครงการที่สามารถพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมอาหารไทยให้เพิ่มผู้เชี่ยวชาญการสร้างสรรค์เทคโนโลยีกลิ่นรสและเครื่องหอม ทั้งในระดับต้น (Basic) ระดับกลาง (Intermediate) และระดับสูง (Professional) ให้สามารถใช้เอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นของประเทศไทยได้มากที่สุด ลดการพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศได้ อันจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายสำหรับนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศได้ในอนาคต เนื่องจากนักรังสรรค์กลิ่นรสมืออาชีพ (Flavorist) ที่มีอยู่ในประเทศมีจำนวนน้อยมาก ๆ และใช้เวลาในการสร้างคนกลุ่มนี้อาจนานถึง 10 ปี จึงจะได้คนที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่เพียบพร้อมสูง

สำหรับโครงการนี้ได้มีการคัดเลือกผู้เข้าฝึกอบรมในระดับ (Pre-course) จาก 50 คน เหลือ 20 คน และจะมีการคัดเลือกจากกลุ่มคนที่ได้รับการอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ รวมถึงบุคลากรจากภายนอกเข้าร่วมการคัดเลือก เพื่อส่งไปฝึกอบรมระดับเข้มข้น ณ สถาบัน ISIPCA เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศสเป็นระยะเวลา 10 วัน ซึ่งมีหลักสูตร/คอร์ส เช่น Art of Food Flavoring ซี่งเป็นหลักสูตรที่เหมาะสำหรับ นักวิจัย นักเรียน นักศึกษาที่มีพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญ ที่ต้องการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้าน Food Flavoring นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรระยะยาว เช่น Flavoring Expertise Formulation & Applications ระยะเวลา 1 ปี เหมาะสำหรับผู้ที่จบการศึกษาในระดับปริญญาโทด้านวิทยาศาสตร์ เช่น สาขาเคมี สาขาวิศวกรรมเคมี สาขาชีวเคมี หรือเทคโนโลยีอาหาร เพื่อจะพัฒนาเป็น Flavorist ในอุตสาหกรรม ที่มีความรู้ความเข้าใจ และทักษะที่จำเป็นในการรังสรรค์และพัฒนากลิ่นรส หรือเป็น Application scientist ที่มีความเข้าใจในเรื่องกลิ่นรสที่แท้จริง และสามารถประยุกต์ใช้กลิ่นรสในผลิตภัณฑ์ได้อย่างถูกต้อง รวมถึง Representative Sale ที่มีความเข้าใจเรื่องกลิ่นรส และสามารถพูดคุย สื่อสาร ระหว่างผู้ใช้กลิ่นรส และ flavorist ให้มีความเข้าใจตรงกันมายิ่งขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรระยะยาว เช่น Scent Design & Creation ระยะเวลา 3 ปี เป็นต้น ดังนั้น การพัฒนาบุคลากร Flavorist ในประเทศไทย จำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้เกิดขึ้น เพื่อรองรับต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมกลิ่นรส และเครื่องหอมที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และสามารถขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารมูลค่าสูงในประเทศไทยได้ในอนาคตอันใกล้

นอกจากนี้ บริษัทเอกชนที่มีศักยภาพและมีความเชี่ยวชาญด้านการสร้างสรรค์อาหารและเครื่องดื่มในการเข้าร่วมคัดเลือกผู้เข้ารับการอบรม อาทิ บริษัท Prova asia จำกัด ยังเป็นส่วนสำคัญในการที่จะรับบุคลากรจากโครงการหลังเสร็จสิ้นการดำเนินโครงการนี้อีกด้วย บพค.
ทั้งนี้ บพค. เห็นว่าโครงการนี้เป็นการยกระดับสมรรถนะของบุคลากรด้านกลิ่นรสในอุตสาหกรรมที่สำคัญที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดดต่อไป ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมจากการสนับสนุนของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) อันจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ประเทศขับเคลื่อนด้วยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นฐานการผลักดันเศรษฐกิจต่อไป

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน
และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา
การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)

Program Management Unit for Human Resources & Institutional
Development,Research and Innovation (PMU-B)

319 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน
เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
02-109-5432 ต่อ 841
[email protected]

ช่องทางการติดต่อสารบรรณของหน่วยงาน :
[email protected]

      ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่