เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริปก พิศสุวรรณ รองผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วยทีมนักวิเคราะห์และพนักงาน บพค. เข้าร่วมติดตามการดำเนินงานของ คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ (National Hydroinformatics Data Center) ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ – องค์การมหาชน (สสน.) ร่วมกับแพทย์หญิง เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมี ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการ สสน. ผู้บริหารและพนักงานให้การต้อนรับ ณ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรุงเทพมหานคร
ดร.รอยบุญฯ กล่าวว่า “สสน. เกิดขึ้นมาจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดการน้ำชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะทรัพยากรน้ำที่ไม่เพียงพอต่อภาคเกษตรกรรม อันเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ จึงต้องการให้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่รวบรวมเอาข้อมูลและสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำกว่า 52 หน่วยงาน 12 กระทรวง และมีสถานีโทรมาตรกว่า 7,915 สถานี นอกจากการมีคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติแล้ว สสน. ยังมีการผลักดันให้มีการจัดตั้งเป็นศูนย์ข้อมูลน้ำแห่งอาเซียน และร่วมเป็นหนึ่งในหน่วยงานการแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อีกด้วย
โอกาสนี้ ดร.รอยบุญฯ และคณะนำชมเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับการบริหารจัดการน้ำบริเวณโถงชั้น 1 ได้แก่
จากนั้น แพทย์หญิงเพชรดาวฯ ได้เปิดประเด็นการหารือแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานของ สสน. ณ ห้องบัญชาการวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำ ชั้น 2 ในหัวข้อ คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติและการใช้ประโยชน์เพื่อการบริหารจัดการนำในภาวะปกติและภาวะวิกฤต และแบบอย่างความสำเร็จศูนย์ข้อมูลน้ำจังหวัดและการจัดการน้ำชุมชน เป็นต้นแบบของการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศและการจัดทำผังน้ำระดับชุมชน สู่การบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ เกิดนวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยใช้หลักการโมเดลการบริหารจัดการน้ำแบบ DSLMM (D = Demand การใช้น้ำ S = Supply น้ำต้นทุน L = Logistic ผังน้ำ M = Money งบประมาณด้านน้ำ M= Management บริหารจัดการน้ำ ) บูรณาการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ด้วยการตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลจริง เพื่อให้ประชาชนมีองค์ความรู้ในการบริหารจัดการน้ำร่วมกันในการบริหารภาวะวิกฤต
ในการนี้ ผศ.ดร.ปริปกฯ ได้นำเสนอแผนงานที่ บพค. รับผิดชอบโดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงโดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมผ่านโปรแกรมธัชวิทย์ อันเป็นการสร้างคนระดับปริญญาโทและปริญญาเอกผ่านกลไกของหลักสูตรแบบใหม่ที่เป็น Higher Education Sandbox โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัย (สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ) และมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมในการผลักดันหลักสูตรใหม่ นอกจากนี้ ยังมีแผนงานพัฒนาทักษะกำลังคนให้สูงขึ้นผ่าน Re-skill/Upskill/New-skill แก่บุคลากรและประชาชนทั่วไป แผนงานความร่วมมือภาคีเครือข่ายการวิจัยระหว่างประเทศหรือ Global Partnership และแผนงานด้านการยกระดับฐานะสถาบันวิจัยของประเทศอีกด้วย
จากการหารือร่วมกันของแพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รอว. และคณะฯ เห็นว่าการดำเนินงานของ สสน. เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาคน สร้างองค์ความรู้ การจัดการน้ำเชิงพื้นที่สู่การพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน จึงควรให้มีการหารือการดำเนินงานและบูรณาการสร้างองค์ความรู้ในพื้นที่ร่วมกันระหว่าง อว. และมหาดไทยเพื่อเป็นการพัฒนาคน และพัฒนาประเทศให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต