เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริปก พิศสุวรรณ รองผู้อำนวยการ บพค. ร่วมด้วย ดร.ศุภฤกษ์ บุพศิริ ดร.ศรัญญา แข้คำ และ ดร. จินตนา ศรีมุข นักวิเคราะอาวุโส บพค. เข้าร่วมประชุมชี้แจงโครงการ “ธัชวิทย์” ซึ่งจัดขึ้น ณ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา อาคารเวฟเพลส ชั้น 8 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยมี ผศ.ดร.จิราพร ไชยวงศ์สาย รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวต้อนรับ โดยภายในงานประชุมมีผู้แทนจากหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการสร้างบุคลากรสมรรถนะ ทั้งฝั่ง Demand side และมหาวิทยาลัย อาทิ ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ผศ.ดร.พรเทพ โรจนวสุ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา ดร.ฌานิกา สุขวัฒนวิจิตร ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ รวมถึงผู้ช่วยนักวิจัยที่ต้องการพัฒนาศักยภาพของตนเองที่เข้าร่วมโครงการ “การผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงด้านวิทยาการข้อมูลเชิงพื้นที่ภายใต้โครงการธัชวิทย์” เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย ในการประชุมได้พูดคุยหารือประเด็นต่างๆที่ทางหน่วยงานเหล่านี้ต้องการดำเนินงานในลำดับถัดไป
โอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริปก พิศสุวรรณ และ ดร.ศุภฤกษ์ บุพศิริ ได้บรรยายภาพรวมของโครงการธัชวิทย์และเน้นถึงประเด็นโครงการธัชวิทย์ในมิติที่ 3 ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มบุคลากรวิจัยสมรรถนะสูงแห่งอนาคต (Future Brainpower Platform) โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการได้แก่ เพื่อสร้างและพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะสูงในเทคนิคเฉพาะทางเชิงลึก ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญให้กับประเทศ โดยเฉพาะสาขาที่จำเป็นเร่งด่วนในการสร้างคนที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมการพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคต และ เพื่อร่วมกันนำโครงสร้างพื้นฐาน นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย วิศวกร และเครือข่ายที่แต่ละฝ่ายมีอยู่ มาสนับสนุนการสร้างและพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง มีทักษะเชิงลึกในเทคนิคเฉพาะทาง ผ่านการสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมขั้นแนวหน้าที่เป็นที่ต้องการของประเทศในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงเครือข่ายสถาบันระดับโลก (World-class institutes) ด้วย รวมถึงได้ชี้แจงหลักเกณฑ์การสนับสนุนการพัฒนาบัณฑิตวิทยาศาสตร์สมรรถนะสูง เช่น ผู้ที่ต้องการสมัครเป็นผู้รับทุนภายใต้โครงการธัชวิทย์ควรต้องเป็นเจ้าหน้าที่ประจำของหน่วยงานวิจัยหรือบริษัทเอกชน (Demand side ) ที่มีความรู้ความสามารถและต้องการพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ ให้มากขึ้นหรือเป็นผู้ที่หน่วยงานต่างๆต้องการจ้างงานหลังจากจบการศึกษา นักวิจัยที่ปรึกษาควรเป็นบุคลากรที่มีความสามารถสูงทั้งฝั่ง Demand side และมหาวิทยาลัย รวมถึงหลักสูตรจะเป็นหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นใหม่ ให้ตรงตามเป้าหมายการพัฒนาบุคลากรที่ต้องการเข้าร่วมพัฒนาทักษะอย่างแท้จริง
บพค. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นหน่วยงานในการขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะกำลังคนสมรรถนะสูง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของหน่วยงาน สถาบันวิจัย รวมถึงหน่วยงานเอกชนที่ต้องการใช้งานบุคลากร