เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วย นางสาวชนินาถ ศรีเพ็ญ และ ดร.ศุภฤกษ์ บุพศิริ นักวิเคราะห์อาวุโส บพค. เข้าร่วมกิจกรรมเสวนาวิชาการหัวข้อ “เทคนิคการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยและการบริหารจัดการงานวิจัย มุ่งสู่การพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์และการนำไปใช้ประโยชน์สู่สาธารณะ” ภายในงาน RMUTR Research Mini Expo 2024 ซึ่งเป็นงานจัดแสดงผลงานวิจัยโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม มีวัตถุประสงค์การจัดงานเพื่อเผยแพร่ความรู้ในการเขียนข้อเสนอโครงการให้ตอบโจทย์ความต้องการของแหล่งทุนและประเทศให้กับบุคลากรมหาวิทยาลัย และเผยแพร่ผลงานวิจัยให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณะ รวมถึงการนำผลงานไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยช่วงกิจกรรมเสวนามีผู้แทนจากหน่วยงานบริหารและจัดการทุน (Program Management Unit: PMU) ได้แก่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้ด้วย ภายในงานฯ มีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยเชิงมูลฐาน (Fundamental Fund: FF) และทุนวิจัยเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund: SF) ของคณะผู้วิจัยหลากหลายสาขากว่า 35 ผลงาน การจัดการประกวดสิ่งประดิษฐ์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม 22 ผลงาน การมอบรางวัลแก่นักวิจัยดีเด่น และมอบประกาศนียบัตรแก่นักวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยประจำปีงบประมาณ 2566
ในการนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรินันท์ฯ ได้กล่าวบรรยายถึงภารกิจและพันธกิจของ บพค. ที่ได้รับหน้าที่ในการบริหารและจัดการทุนวิจัยเชิงกลยุทธ์ในโครงสร้างระบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ในส่วนยุทธศาสตร์ที่ 3 และยุทธศาสตร์ที่ 4 มุ่งเน้นการพัฒนาการทำวิจัยขั้นแนวหน้าที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต รองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าล้ำยุค และการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการของอุตสาหกรรมและประเทศในสาขาที่จำเป็นเร่งด่วน เช่น Frontier BCG Future technology Frontier SHA (Creative content) AI เป็นต้น ซึ่ง บพค. เน้นหลักการทำงานในรูปแบบเชิงรุกผ่านเครือข่ายความร่วมมือที่เป็น Consortium เฉพาะด้าน อันเกิดจากภาคการวิจัย ภาคผู้ใช้ ประโยชน์ ภาคส่วนนโยบาย และภาคประชาสังคมร่วมกันทำงานเป็น Quadrupole Helix เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญให้แก่ระบบ ววน. และประเทศชาติต่อไปได้
โอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บวรกิตติ์ เนคมานุรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ในฐานะคณะอำนวยการจัดงาน ได้กล่าวต้อนรับและขอบคุณผู้แทนจากแหล่งทุนในการเข้าร่วมเสวนาวิชาการและเผยแพร่ความรู้ให้แก่บุคลากรในมหาวิทยาลัยฯ ในครั้งนี้ ซึ่งจะได้มีการต่อยอดหารือการสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาท้องถิ่นและการพัฒนากำลังคนให้ตรงต่อความต้องการของประเทศต่อไป