บพค. - สป.อว. หารือความร่วมมือประเทศไต้หวัน ขับเคลื่อนการพัฒนางานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมหนุนการแลกเปลี่ยนบุคลากรวิจัย

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. และคณะทำงาน บพค. เข้าร่วมหารือการสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนางานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (ววน.) กับคณะผู้บริหารจาก National Science and Technology Council และ National Cheng Kung University (NCKU) ประเทศไต้หวัน โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ Prof. Dr. Fong-Chin Su (ฟางชิ่ง ซู) ประธาน Academia-Industry Consortium for Southern Taiwan Science Park จากประเทศไต้หวัน พร้อมคณะผู้ติดตามจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ National Cheng Kung (NCKU), Taipei Economic and Cultural Office in Thailand (TECO Thailand), Taipei Economic and Cultural Office in Vietnam (TECO Vietnam) และ New Southbound Project Office for Science and Technology Collaboration, NARLabs ณ ห้องกรกมล 1 โรงแรมสุโกศล กรุงเทพฯ โดยฝ่ายไต้หวันมีประเด็นหารือ ดังนี้

  1. การส่งเสริมและพัฒนา Talent cultivation และ Talent mobility ระหว่างไทยกับไต้หวัน
  2. ความร่วมมือไทย-ไต้หวันด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และ
  3. ทุนวิจัยและสาขาความร่วมมือที่ทางไต้หวันให้ความสนใจ

ทั้งนี้ การประชุมได้มีการนำเสนอโปรแกรมฝึกอบรม เพื่อพัฒนากำลังคนที่มีทักษะผู้เชี่ยวชาญ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือจากภาครัฐ การลงทุนภาคอุตสาหกรรม และความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา ซึ่งประเทศไทยมีเป้าหมายในการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมระดับโลก ต้องการร่วมมือกับไต้หวันเพื่อต่อยอดศักยภาพด้านบุคลากรที่มีความสามารถ ด้านประเทศไต้หวันได้ให้ความสำคัญของงานวิจัยขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ มุ่งเน้นเรื่องการลงทุนด้าน Engineering and Technologies ด้าน Natural Sciences and Sustainable Development ด้าน Life Sciences และด้าน Humanities, and Social Sciences โดยหลักการพื้นฐานเหล่านี้นำไปสู่กลยุทธ์การพัฒนาประเทศผ่านการตั้งแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลัก ๆ อยู่ 8 แพลตฟอร์ม ได้แก่ 1) Semiconductors and Quantum 2) Artificial Intelligence 3) Space Technology and 6G 4) Cybersecurity and Advanced Internet Infrastructure 5) Humanities and Social Sciences 6) Defense Technology 7) Net-Zero และ Disease Prevention and Elder Tech ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ประเทศไต้หวันติดอันดับต้น ๆ ของโลกในด้านต่าง ๆ

ศาสตราจารย์ ดร.สมปองฯ ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการยินดีสนับสนุนการวิจัยด้าน Semi-conductor, EV และ Health AI ซึ่งเป็นการวิจัยขั้นสูงที่ทาง บพค. มีเป้าหมายในการขับเคลื่อน โดยจะทำงานร่วมกับทาง สป.อว. เพื่อผลักดันงานวิจัยของประเทศไปสู่สากลมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างไทยกับไต้หวัน ในด้านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งจะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ แลกเปลี่ยนบุคลากรวิจัยระหว่างประเทศ และอาจนำไปสู่ความก้าวหน้าในภาคส่วนต่าง ๆ ในอนาคต