บพค. ลงพื้นที่เยี่ยมชมสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) พร้อมหารือแนวทางการสร้างความร่วมมือในการพัฒนากำลังคนมุ่งเน้นประเด็นงานวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) พร้อมผลักดันการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Young Startup)

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริปก พิศสุวรรณ รองผู้อำนวยการ บพค. คณะผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรชัย เหมือนประสาท รองศาสตราจารย์ ดร.รินา ภัทรมานนท์ ดร.วิศิษฐ ทวีปรังสีพร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์สุทธิ พื้นแสน ดร.มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม อาจารย์จตุรภรณ์ โชคภูเขียว คณะนักวิจัย และทีมนักวิเคราะห์ บพค. เข้าเยี่ยมชมสถาบันวิทยสิริเมธี (Vidyasirimedhi Institute of Science and Technology, VISTEC) และหารือแนวทางการสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนากำลังคนร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น อธิการบดีสถาบันวิทยสิริเมธี นางสาวพัชราภรณ์ เพชรประดับ รองอธิการบดีด้านบริหาร สถาบันวิทยสิริเมธี นายอภิวัฒน์ ทองประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิสอัพ จำกัด รวมทั้งผู้อำนวยการและคณาจารย์ทั้ง 4 สำนักวิชา พร้อมด้วยบุคลากรด้านวิชาการและการวิจัย ในระหว่างวันที่ 6 – 7 มีนาคม 2567 ณ สถาบันวิทยสิริเมธี อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง

โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจฯ ได้กล่าวต้อนรับและแนะนำภาพรวมสถาบันฯ ที่มุ่งผลิตบุคลากร งานวิจัย และนวัตกรรมขั้นแนวหน้า โดยมีผู้อำนวยการสำนักวิชาและผู้แทนจาก 4 สำนักวิชา ได้แก่

  1. สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน (School of Energy Science and Engineering: ESE)
  2. สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล (School of Molecular Science and Engineering: MSE)
  3. สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล (School of Biomolecular Science and Engineering: BSE) และ
  4. สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (School of Information Science and Technology: IST)

นำเสนอประเด็นและกรอบวิจัยที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ New S-Curve ที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.)

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สมปองฯ กล่าวถึงบทบาท ภารกิจของ บพค. ตลอดจนแนวทางการจัดสรรทุนภายใต้ระบบ ววน. และนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นอกจากนี้ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิสอัพ จำกัด ได้แนะนำภาพรวมของบริษัทฯ และนำเสนอกระบวนการพัฒนางานวิจัยไปสู่การใช้งานในเชิงพาณิชย์ ซึ่งในที่ประชุมฯ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการผลักดันให้เกิดวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) แบบเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep technology) และร่วมหาแนวทางในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกันอย่างกว้างขวาง

จากนั้น Head of Science and Laboratory และทีม VISTEC ได้นำชมศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นแนวหน้า (Frontier Research Center: FRC) ที่เป็นทั้งศูนย์เครื่องมือล้ำสมัย ศูนย์ให้คำปรึกษาและสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยของ VISTEC รวมถึงโรงประลอง โรงเรือนสาธิต ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน (Centre of Excellence for Energy Storage Technology: CEST) และพื้นที่ต่าง ๆ ของสำนักวิชา ซึ่งรองรับการทำวิจัยแบบปฏิบัติจริงร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ทำให้ผลผลิตจาก VISTEC โดดเด่นในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยทางเคมี ชีวภาพ หุ่นยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปัญญาประดิษฐ์ รวมไปถึงการกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงและการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์อีกด้วย ซี่งล้วนแต่เป็นการยกระดับคุณภาพและเพิ่มขีดความสามารถของงานวิจัยและนักวิจัยไทย อีกทั้งสอดคล้องกับพันธกิจของ บพค. ที่ให้การสนับสนุนเทคโนโลยีขั้นแนวหน้าและพัฒนากำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสาขาที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ