บพค. ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนานิเวศด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

ระหว่างวันที่ 18 – 20 กุมภาพันธ์ 2567 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการ บพค. รองศาสตราจารย์ ดร.รินา ภัทรมานนท์ อาจารย์จตุรภรณ์ โชคภูเขียว ประธานคณะประสานงานคลัสเตอร์ บพค. และนักวิเคราะห์ บพค. พร้อมด้วยคณะผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พูลศักดิ์ โกษียาพร รองผู้อำนวยการ สอวช. ศาสตราจารย์ ดร.สำเริง จักรใจ ประธานอนุกรรมการเทคนิคด้านการวิจัยขั้นแนวหน้าของประเทศ ศาสตราจารย์ ดร.ศักดา ดาดวง อนุกรรมการเทคนิคด้านการวิจัยขั้นแนวหน้าของประเทศ ดร.วิศิษฐ ทวีปรังสีพร อนุกรรมการเทคนิคด้านการวิจัยขั้นแนวหน้าของประเทศ และ ดร.มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม ที่ปรึกษาอาวุโสและผู้เชี่ยวชาญฐานข้อมูลดิจิทัลภาครัฐ เข้าร่วมการประชุมระดมความคิดเห็นโครงการการศึกษาริเริ่มพัฒนาพื้นที่นิเวศด้านการวิจัยและควอนตัมเทคโนโลยี ณ โรงแรมเรนทรี เรซิเดนซ์ เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับนักวิจัยทางด้านเทคโนโลยีควอนตัมรวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชน เพื่อระดมความคิดและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการกำหนดเป้าประสงค์และกำหนดยุทธศาสตร์สำหรับเทคโนโลยีควอนตัมในประเทศไทย การสร้างอัตลักษณ์เทคโนโลยีควอนตัมในรูปแบบของประเทศไทย ทิศทางการริเริ่มการสร้างนิเวศด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัม (Quantum Valley Initiative) ตลอดจนแนวทางการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีควอนตัมเพื่อสร้างผลกระทบสำคัญในระดับประเทศอย่างยั่งยืนเพื่อเพิ่มโอกาสแข่งขันในระดับสากลและดึงดูดกลุ่มนักลงทุนจากต่างประเทศ

ทั้งนี้คณะผู้ทรงคุณวุฒิเสนอให้มีการเสริมแกร่งปัจจัยต่าง ๆ ที่จะสร้างระบบนิเวศทางด้านเทคโนโลยีควอนตัมให้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์และยั่งยืน ได้แก่

  1. การพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงทางด้านเทคโนโลยีควอนตัม
  2. การพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านควอนตัมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง
  3. การสนับสนุนและการวางแผนทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาของผลงานที่เกิดขึ้น และ
  4. ส่วนสนับสนุนและพัฒนาผลงานรวมถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ สู่ภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ

บพค. หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม กำลังคนสมรรถนะสูง รวมถึงระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีควอนตัมของประเทศไทยสู่ระดับสากล