เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) โดย ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ คณะประสานงานคลัสเตอร์ บพค. พร้อมด้วย ดร.ปราณปรียา ศรีวรรณวิทย์ ลุนด์แบร์ย ผู้อำนวยการฝ่ายกลุ่มนโยบายเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) รวมทั้ง นางสาวสวามิตรี พรหมยศ ผู้อำนวยการส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศกลุ่ม 2 (สหรัฐอเมริกา/ยุโรป) นางสาวมริษฎา นิลมณี จากสำนักยุทธศาสตร์อุดมศึกษาต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) และนักวิเคราะห์ บพค. ให้การต้อนรับ ดร. Michele Anderson และ Mr. Michael Resner ผู้บริหารและนักวิจัย จากสำนักงานวิจัยนาวี (Office of Naval Research: ONR) ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้ง ดร. Richard Rocheleau และ ดร. Scott Turn จากสถาบันพลังงานธรรมชาติแห่งฮาวาย (Hawaii Natural Energy Institute: HNEI) ในการประชุมหารือเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของหน่วยงานแต่ละประเทศ ณ ห้องประชุมหว้ากอ 2 สอวช.
โดยกองทัพเรือสำนักงานวิจัยนาวี (Office of Naval Research: ONR)” เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงทัพเรือสหรัฐอเมริกา ทำหน้าที่รับผิดชอบโครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของกองทัพเรือและนาวิกโยธินสหรัฐฯ มีภารกิจในการดำเนินงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อรักษาพลังทางทะเลและความมั่นคงแห่งชาติ ONR โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ มากมาย และดูแลห้องปฏิบัติการวิจัยของกองทัพเรือ (Naval Research Laboratory) ในส่วนของสถาบันพลังงานธรรมชาติแห่งฮาวาย (HNEI) ในฐานะศูนย์วิจัยและพัฒนาพลังงานหมุนเวียนแห่งมหาวิทยาลัยฮาวาย มีภารกิจในการดำเนินการวิจัยในสาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานความร้อนใต้พิภพ พลังงานคลื่น และชีวมวล อีกทั้งยังให้การศึกษาและการฝึกอบรมเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนแก่สาธารณชนและภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนให้บริการด้านเทคนิคแก่ชุมชนที่ต้องการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา รวมทั้งบทบาทพันธกิจของ สอวช. ที่ได้ดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐ โดยการประชุมในครั้งนี้ได้เน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือด้านวิจัยข้ามสาขาเพื่อพัฒนาโซลูชันพลังงานที่ยั่งยืน มุ่งเน้นการลดคาร์บอนฟุตพรินท์ผ่านพลังงานหมุนเวียน ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในไทยและสหรัฐอเมริกา และการดึงดูดนักศึกษามาเรียนสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่จะก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานได้เป็นอย่างดีในอนาคต