บพค. ร่วมติดตาม รมว.อว. ลงพื้นที่ จ.ระนอง เสนอแนวทางขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ SEC และแลนด์บริดจ์ เชื่อมโยง 3 จังหวัดในพื้นที่อ่าวไทย-อันดามัน (ระนอง ชุมพร และสุราษฎร์ธานี)

เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2567 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริปก พิศสุวรรณ รองผู้อำนวยการ บพค. และนักวิเคราะห์โครงการ ร่วมติดตาม นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) พร้อมด้วย พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.อว. นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการ อว. และคณะผู้บริหาร อว. เพื่อประชุมแนวทางการขับเคลื่อนงาน อววน. ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) และแลนด์บริดจ์ (Landbridge) ณ ห้องประชุมแก้วเจ้าจอม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ศูนย์การศึกษาจังหวัดระนอง

ผลจากการหารือนั้น อว. เตรียมแนวทางการขับเคลื่อนงาน อววน. ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ และแลนด์บริดจ์ โดยพัฒนาเชื่อมโยง 3 จังหวัดในพื้นที่อ่าวไทย – อันดามัน ได้แก่ ระนอง ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ผ่านภาคีเครือข่ายความร่วมมือ 6 สถาบันได้แก่

  1. วิทยาลัยชุมชนระนอง
  2. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ศูนย์การศึกษาจังหวัดระนอง
  3. มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
  4. มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร
  5. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ และ
  6. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ใน 5 มิติ ได้แก่

  1. ด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และสุขภาพ โดยใช้ Soft Power มาพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ชุมชน และธุรกิจฮาลาล อาทิ ผ้ายกพุมเรียง ผ้าบาบ๋า – ย่าหยา มวยไชยา แฟชั่น การแสดง อาหารพื้นถิ่นและพืชสมุนไพร ซึ่งจะทำให้เกิดผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ที่มีรากฐานจาก Soft Power เพิ่มขึ้นอย่างน้อยจังหวัดละ 100 ราย ยกระดับรายได้ของประชากรร้อยละ 20
  2. ด้านการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะและเมืองแห่งการเรียนรู้ ผ่านการศึกษา การสำรวจ การออกแบบและสร้างแนวทางในการพัฒนาเมืองอย่างน้อยจังหวัดละ 1 เมืองต้นแบบ เกิดแหล่งเรียนรู้ชุมชนจังหวัดละ 50 ชุมชน สร้างนวัตกรชุมชนในพื้นที่แหล่งเรียนรู้จังหวัดละ 1,000 คน
  3. ด้านโลจิสติกส์ โดยจัดทำแผนแม่บทและแนวทางการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ การสร้างและพัฒนาคนในระบบรางและท่าเรือเพื่อเชื่อมฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน
  4. ด้านการพัฒนาบุคลากร จะจัดอบรมพัฒนาบุคลากรด้านภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษาเมียนมา เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและการลงทุน รวมถึงความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต ซึ่งจะสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทั้ง 3 ภาษา อย่างน้อยจังหวัดละ 1,000 คน และ
  5. ด้านการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ตอนบน เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้และโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่สามารถสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ตอนบนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ แนวทางการขับเคลื่อนงานทั้งหมดในข้างต้น อว. ตั้งเป้าจะทำให้มีผู้ได้รับประโยชน์ถึงร้อยละ 50 ของประชากรทั้งหมดใน 3 จังหวัด หรือประมาณ 800,000 คน และจะสามารถสร้างงานให้ผู้ที่ไม่มีงานทำได้มากถึง 250,000 อัตรา เกิดผู้ประกอบการธุรกิจใหม่อันมีรากฐานจาก Soft Power เพิ่มขึ้น ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ต่อประชาชนฝั่งอ่าวไทย – อันดามัน

จากนั้น ได้ติดตาม รมว.อว. และคณะ เยี่ยมชมโครงการยกระดับการผลิตสินค้าอัตลักษณ์จังหวัดระนอง “กลุ่มเซรามิกบ้านหาดส้มแป้น” อำเภอเมือง จังหวัดระนอง โดยโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานในท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด เกษตรจังหวัด และพัฒนาชุมชน จังหวัดระนอง และประสานงานขอรับการสนับสนุนเทคโนโลยีผ่านทางสำนักงานปลัดกระทรวง อว. ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) โดยได้เข้าไปฝึกอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการผลิตเซรามิกให้กับสมาชิกของกลุ่ม เพื่อให้มีพื้นฐานด้านการผลิตเซรามิกและพัฒนากระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง ให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ลดการสูญเสียในกระบวนการผลิตให้เหลือน้อยที่สุด ปัจจุบันกลุ่มเซรามิก บ้านหาดส้มแป้นสามารถผลิตสินค้าได้หลากหลายชนิดที่มีรูปแบบและลวดลายเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด เช่น ชุดถ้วยชา ถ้วยกาแฟ ของประดับตกแต่ง และของที่ระลึกจำหน่าย ณ ที่ทำการกลุ่ม และสถานที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด รวมทั้งมีการนำผลิตภัณฑ์ไปเปิดร้านจำหน่ายนอกสถานที่ มีการสาธิตวิธีการผลิตให้กับผู้สนใจในงานเทศกาลประจำจังหวัด และงานแสดงสินค้า OTOP City