วันที่ 23 กันยายน 2563 ณ โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพ ฟอร์จูน / ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) มอบนโยบาย “ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันเพื่อพัฒนาจังหวัดด้วยอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.)” ให้กับผู้บริหารเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้ง หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันการศึกษา (UBI) เครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เพื่อจัดเตรียมความพร้อมของหน่วยงานเครือข่าย อว. ที่เป็นสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ในการดำเนินการตอบสนองนโยบายของรัฐบาล “การขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน” ในระดับพื้นที่จังหวัด ให้เกิดการพัฒนาและแก้ปัญหา สามารถขับเคลื่อนไปได้โดยเร็ว ลดปัญหา อุปสรรค รวมทั้งใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้องค์ความรู้แบบบูรณาการศาสตร์ ผนวกกับงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัด ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน” ขับเคลื่อนงานด้าน อววน. ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ในพื้นที่ อันจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ พัฒนากระบวนการผลิต เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ทุกกระทรวงดำเนินการตามนโยบายขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน โดยแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนราชการและส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในจังหวัด โดยมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกคนเป็นกรรมการ ซึ่งในส่วนของ รมว.อว. ได้รับมอบหมายให้ดูแลจังหวัดลำปางและเลย มีหน้าที่รับผิดชอบพื้นที่ในระดับจังหวัดมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่คณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด สนับสนุนและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในขณะนี้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดตั้ง “อว.ส่วนหน้า” หรือหน่วยปฏิบัติการส่วนหน้าของ อว. ตามนโยบายขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน เพื่อพัฒนาจังหวัดด้วยอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) โดยได้จัดตั้งคณะทำงานหรือคณะกรรมการขึ้นมา 2 ระดับ ได้แก่ (1) ระดับส่วนกลาง มีปลัด อว. เป็นประธาน และ รมว.อว. เป็นที่ปรึกษา และ (2) ระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด หรือที่เรียกว่า “อว. ส่วนหน้า” สำหรับในระดับจังหวัด ประกอบด้วย ตัวแทนมหาวิทยาลัยในแต่ละจังหวัด มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) เข้าไปรับฟังปัญหา ข้อเรียกร้อง และข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำมาสู่การปฏิบัติ ส่วนระดับกลุ่มจังหวัด แบ่งออกเป็น 9 กลุ่มจังหวัด เช่น ภาคเหนือตอนบน แม่ข่ายจะเป็นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคเหนือตอนล่างแม่ข่ายคือ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นต้น พร้อมกันนี้ อว. จะใช้ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ ภายใต้อุทยานวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยทั้ง 9 แม่ข่าย ผสานการทำงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชน ภาคสังคม กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
“เราจะขับเคลื่อนกันทั้งกระทรวง ทั้งส่วนอุดมศึกษา ส่วนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาสนธิกำลังกันหมด ลงไปขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน สำหรับ อว. ตอนนี้ จะไปทำงานไม่ใช่เฉพาะส่วนกลางเท่านั้น แต่จะไปทำในระดับจังหวัดและระดับภูมิภาคด้วย” รมว.อว. กล่าว
นอกจากนี้ อว. จะสานต่อโครงการ อว.จ้างงาน โดยจะจ้างงานนักศึกษาที่กำลังจะเรียนจบหรือที่สำเร็จการศึกษาแล้ว แต่ยังหางานทำไม่ได้ ให้มีเงินทุนพอที่จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ และจะให้ศึกษาต่อเพื่อยกระดับทักษะที่จำเป็นหรือที่ต้องการในตลาดแรงงาน หรือเรียกว่า Up Skill – Reskill ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งภายใน 1 ปี หลังสถานการณ์โควิด-19 นี้ เป็นโอกาสประเทศไทยจะดำเนินการ UpSkill – Reskill ให้กับนักศึกษาได้เข้ามาฝึกทักษะใหม่และเป็นการสอนแบบที่มีคุณภาพด้วย โดยเน้น digital transformation ให้แก่คนที่จะเป็นนักวิชาชีพ ผู้ประกอบการ หรือสตาร์ทอัพ ในยุคดิจิทัล โดยดำเนินการร่วมกับสภาธุรกิจดิจิทัลแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติงานจริงเรื่องดิจิทัลเข้ามาสอนในห้องเรียนวิชาการ เปรียบเสมือนเด็กนักศึกษาได้ฝึกงานไปด้วย ทำให้เมื่อจบการศึกษาแล้วบุคคลเหล่านี้ก็จะมีงานทำและเป็นงานที่มีรายได้หรือเงินเดือนสูงขึ้น และมีอนาคตที่มั่นคงมากขึ้น ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งสำคัญที่ อว. ส่วนหน้า ต้องดำเนินการด้วย
Source :https://www.mhesi.go.th/home/index.php/pr/news/2080-230963-thailand-powered