ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) กล่าวรายงานผลการดำเนินงานของ บพค. ต่อที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยมี ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธาน ว่า บพค. เป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมการพัฒนาคนให้มีความสามารถและทักษะสำคัญเพื่อสนับสนุนขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยใช้งบประมาณในปี 2563 จำนวน 877.11 ล้านบาท สนับสนุน 5 โปรแกรมหลัก
โดยทั้ง 5 โปรแกรม ประกอบด้วย การสร้างและผลิตกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผ่านการสร้างให้เกิดระบบการบ่มเพาะนักวิจัยหลังปริญญาเอก หลังปริญญาโท และนักศึกษาระดับปริญญาโท ที่พร้อมทำงานวิจัยที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรม โดยมีมหาวิทยาลัยและสถาบันการวิจัยจำนวนหนึ่ง ได้รับเป็นแหล่งบ่มเพาะนักวิจัยรุ่นใหม่และนักศึกษาให้ทำวิจัยด้วยโจทย์ของภาคอุตสาหกรรมสาขาที่สำคัญของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมพลังงาน/ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมฐานชีวภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร รวมทั้งได้รับการ mentor จากทั้งอาจารย์ นักวิจัยภาครัฐ และภาคเอกชน ทำให้นักวิจัยรุ่นใหม่และนักศึกษาที่ผ่านการบ่มเพราะนี้มีทักษะในการทำงานกับภาคอุตสาหกรรม การทำวิจัยแบบทีมเวิร์ค ฝึกการสื่อสาร เข้าใจกระบวนการทำงานจริงของอุตสาหกรรมเกิดระบบการสร้างนักวิจัยคุณภาพสูงเพื่ออุตสาหกรรม รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการจะได้ประโยชน์จากงานวิจัย การส่งเสริมปัญญาประดิษฐ์เป็นฐานขับเคลื่อนประเทศในอนาคต (AI for All) สนับสนุนระบบและกลไกในการสร้างความตระหนักแรงบันดาลใจให้คนทุกระดับ และสนับสนุนระบบการพัฒนากำลังคนที่สามารถพัฒนาและใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ในงานที่ทำอยู่ ผ่าน 5 กลุ่มเป้าหมาย คือ 1) สร้างความรู้ ความเข้าใจและกระแสความสนใจเรื่องปัญญาประดิษฐ์สำหรับทุกคน (AI Thai Smart) มีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างความสนใจและการตระหนักรู้เรื่อง AI ในชีวิตประจำวัน ให้เห็นประโยชน์และรู้เท่าทันถึงความเกี่ยวข้องและผลกระทบของ AI ที่เกิดขึ้นแล้ว ทั้งประโยชน์ที่ได้และข้อพึงระวัง 2) พัฒนาครูและสร้างความเข้าใจและพื้นฐานการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์ให้กับเด็กและเยาวชน (AI@School) เพื่อส่งเสริมการเรียนปัญญาประดิษฐ์ในโรงเรียน โดยการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ปีที่ 4-6) ทั่วประเทศ ให้เข้าใจพื้นฐานเรื่องวิทยาศาสตร์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ ใช้กลไกการเรียนรู้แบบมีประสบการณ์ปฏิบัติจริง ผ่านการแนะนำของคุณครูที่มีความสามารถ 3) สำหรับผู้ที่ต้องการเพิ่มความสามารถ ต้องการเป็นนวัตกร การเข้าร่วมโครงการ Super AI Engineer จะได้รับการอบรมเพื่อเพิ่มความรู้ทักษะเกี่ยวกับเทคโนโลยีล่าสุดทางด้าน AI และมีโอกาสทดลองประยุกต์ใช้กับโจทย์จริง รวมทั้งได้รับโอกาสให้ฝึกงานกับบริษัทที่ใช้ AI 4) สำหรับภาคธุรกิจ จะได้ทำงานกับนักวิจัยและพัฒนาขั้นสูง เพื่อประยุกต์ AI เข้ากับวิทยาการหุ่นยนต์ ตอบโจทย์ภาคการผลิตและบริการ ผ่านการค้นคว้าวิจัย พร้อมกับพัฒนาบุคลากรในระดับนักศึกษา นักวิจัย และผู้ที่ทำงานอยู่แล้ว และ 5) สำหรับนักเรียนที่สนใจนักศึกษาและที่มีใจรักและมีทักษะด้านการประดิษฐ์ การแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์เพื่อการเกษตร Smart Agricultural Robot Contest เป็นเวทีที่ท้าทายสำหรับนิสิตนักศึกษาและนักเรียนอาชีวะที่จะใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติและระบบปัญญาประดิษฐ์มาช่วยการทำเกษตร ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และส่งเสริมสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรืออาชีวศึกษาในท้องถิ่นหลากหลาย โดยในระยะเวลาการดำเนินงาน 6 เดือน ได้พัฒนาทักษะความรู้ความเข้าใจของกลุ่มเป้าหมายกว่าสามหมื่นคน
การส่งเสริมการวิจัยขั้นแนวหน้าและการวิจัยพื้นฐานที่ประเทศมีศักยภาพ ประกอบด้วย 4 แผนงานสำคัญ คือ 1) ข้อริเริ่มการวิจัยขั้นแนวหน้าประเทศไทย โดยในปี 2563 สามารถผลิตทีมวิจัยที่เข้มแข็ง ทางด้านชีวการแพทย์ ด้านวัสดุศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์กายภาพและวิศวกรรมศาสตร์ ด้านคณิตศาสตร์ และด้านชีววิวทยา ส่งเสริมการทำงานเป็น consortium ทำโจทย์ขนาดใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรขั้นสูง โดยจะใช้เวลา 3 ปี ในการสร้างดาวเทียมโคจรรอบโลก ตั้งแต่การออบแบบ สร้างและส่งขึ้นวงโคจร ผ่านการทำงานร่วมกับนานาชาติที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อให้เกิดการดูดซับเทคโนโลยี พัฒนานักวิจัยและวิศวกรขั้นสูง รวมทั้งสร้างเทคโนโลยีด้าน Optics สำหรับ Earth Observation Telescope ที่จะได้รับการติดตั้งบนดาวเทียมโคจรรอบโลกเพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นผิวโลกที่เป็นประโยชน์ และจะนำไปสู่การถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ภาคอุตสาหกรรม อีกสาขาหนึ่งที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการทำวิจัยคู่ขนานไปได้กับระดับนานาชาติคือ เทคโนโลยีควอนตัม ซึ่ง บพค. สนับสนุนทั้ง กลุ่มวิจัยควอนตัมเชิงลึก ที่ดำเนินการวิจัยตามแผนที่นำทางด้านเทคโนโลยีควอนตัมของประเทศ ซึ่งประกอบด้วยงานวิจัยควอนตัม 3 ด้าน ได้แก่ 1) มาตรวิทยาและการวัดเชิงควอนตัม 2) การสื่อสารเชิงควอนตัม และ 3) การคำนวณและการจำลองเชิงควอนตัม โดยในระยะแรก (3 ปี) มีวัตถุประสงค์พัฒนาต้นแบบ quantum devices/algorithms และคาดว่าจะพัฒนาให้เกิดการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์อีกใน 6 – 10 ปี ส่วนอีกกลุ่มคือกลุ่มควอนตัมประยุกต์ ที่นำเสนอโครงการนำร่องในการพัฒนาวัสดุและอุปกรณ์เซ็นเซอร์โดยอาศัยหลักการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ควอนตัม เช่น อุปกรณ์ตรวจวัตถุระเบิด อุปกรณ์ตรวจจับสารชีวภาพโฟโตนิกส์ซิลิคอน อุปกรณ์ตรวจจับแสง สัญญาณไฟฟ้าและแม่เหล็กความไวสูง การสนับสนุนงานวิจัยของทั้งสองกลุ่มนี้ เป็นการสร้างเครือข่ายวิจัยเทคโนโลยีควอนตัมเพื่อทำงานร่วมกัน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเกิดนักวิจัยรุ่นใหม่ที่สามารถรองรับการวิจัยด้านควอนตัมของประเทศได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น บพค.ตระหนักว่าในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โจทย์ใหม่ ๆ และโจทย์สหสาขาทางด้านที่เกี่ยวกับมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปรับตัวทางสังคมและการอยู่ร่วมกัน โดยในปี 2563 ส่งเสริมทีมวิจัยด้านมนุษยศาสตร์ที่เกี่ยวกับสังคมดิจิทัล ด้านพหุสังคม ด้านศิลปกรรม และด้านประวัติศาสตร์ โดยการพัฒนาบุคลากรข้างต้นจะสามารถช่วยสร้างองค์ความรู้และความรู้เชิงประยุกต์ทางด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ที่สามารถใช้ในการพัฒนามนุษย์และแก้ไขปัญหาสังคมได้ และเชื่อว่าจะนำไปสู่แนวความคิดเชิงนโยบายให้ประเทศมีความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของอนาคต
ในช่วงของสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) อว.ได้กำหนดนโยบายในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งยังไม่มีความแน่นอนว่าจะเป็นการระบาดยืดเยื้อยาวนานทำให้ต้องมีการวางแผนรับมือในระยะยาว บพค. จึงได้สนับสนุน การแก้ปัญหาวิกฤติเร่งด่วนของประเทศ ผ่านการวิจัย Frontier Research และการพัฒนาระบบการสร้างความสามารถเพื่อรองรับสถานการณ์โรค COVID-19 โดยดำเนินการวิจัยอย่างเร่งด่วนในลักษณะ consortium เพื่อประเมินแบบจำลอง (model) สำหรับการวางแผนในการรับมือการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ COVID-19 และแบบจำลองทางด้านผลกระทบสำหรับการวางแผนของนโยบายของประเทศ ซึ่งคณะผู้วิจัยนำเสนอรายงานผลการวิจัยดังกล่าวต่อที่ประชุมของผู้กำหนดนโยบายสาธารณสุขทั้งในและต่างประเทศ เพื่อใช้ประโยชน์ในวางแผนรับมือการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 หรือโรคระบาดอื่น ๆ ในอนาคต รวมทั้งวางแผนนโยบายของประเทศให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อประชากรต่อไป
บพค. สนับสนุนการสร้างพันธมิตรระหว่างนักวิจัยไทยกับต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างไร้ขอบเขตผ่านโครงการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติ เพื่อสร้างความเป็นเลิศทางการวิจัยและงานวิจัยที่มีผลกระทบสูงของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย ให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน ซึ่งถึงแม้ในช่วงปีที่ผ่านมามีการระบาดของโควิด-19 ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางไปต่างประเทศและเข้าประเทศไทย แต่นักวิจัยทั้งไทยและต่างประเทศก็ปรับตัวมาเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางออนไลน์ มีการประชุมและจัดสัมมนาร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ
ดร.กัญญวิมว์ กล่าวว่า สำหรับงบประมาณปี 2564 บพค. ได้รับการจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 1,475.25 ล้านบาท ดำเนินงานใน 8 โปรแกรม 16 แผนงาน โดยเพิ่มเติมการดำเนินงานจากปี 2563 อีก 3 โปรแกรม คือ การผลิตกำลังคนระดับสูงรองรับ EEC และระบบเศรษฐกิจสังคมของประเทศ การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและพัฒนาทักษะเพื่ออนาคต และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยที่สำคัญ
ด้าน รมว.อว. กล่าวชมเชยแผนการดำเนินงานและการดำเนินงานตามแผนของ บพค. โดยระบุว่า เป็นแผนที่สร้างคนตอบโจทย์ใหม่ของประเทศที่ทำให้เรามั่นใจได้ว่าคนไทยไม่เป็นรองใครทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
“ผมชอบให้มีการคิดแบบบายพาสคือแบบทางลัด ไม่จำเป็นต้องตามคนอื่นเสมอไป เราต้องคิดแบบก้าวหน้า มันอาจจะไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ขอให้เรากล้าที่จะก้าวกระโดด เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คิดถึงประเทศชั้นนำ ทั้งเกาหลี จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เขาก็เริ่มต้นด้วยความไม่พร้อมแบบเรา แต่ในที่สุดเขาก็ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเข้ามาช่วย และประสบความสำเร็จอย่างมากมาย” รมว.อว. กล่าว
นอกจากนี้ ศ.พิเศษ ดร.เอนก ยังแสดงความชื่นชมที่ บพค. ได้ดำเนินการโดยรวมทั้ง วิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคม ศิลปะ วัฒนธรรม เข้าด้วยกัน ซึ่งแสดงถึงการพัฒนาแบบองค์รวมอย่างแท้จริง เพราะการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างเดียวไม่พอ ต้องพัฒนาด้านจิตวิญญาณด้วยถึงจะเรียกว่าการปฏิวัติระบบสังคมอย่างแท้จริง