เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 ผศ.ดร. ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการ บพค. นำทีมผู้ทรงคุณวุฒิ หัวหน้าคณะประสานงานคลัสเตอร์ บพค. และนักวิเคราะห์ บพค. ร่วมรับฟังรายงานความก้าวหน้าของแผนงานวิจัยขนาดใหญ่จำนวนสองแผน ภายใต้กรอบงบประมาณปี 2564 ผลักดันการสร้างนักวิจัยขั้นสูงเพื่ออุตสาหกรรมกว่า 30 คน และนักวิจัยแผนงานการยกระดับคุณภาพและสมรรถนภาพของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์กว่า 35 คน
ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ผศ. ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ รศ. ดร.เสาวลักษม์ กิตติประภัสร์ ศ. ดร.รัศมี ชูทรงเดช และ ศ. ดร.ศักดา ดาดวง หัวหน้าคณะประสานงานคลัสเตอร์ได้แก่ รศ. ดร.รินา ภัทรมานนท์ สาขา Frontier Research และ นางสาวจตุรภรณ์ โชคภูเขียว สาขา Social Sciences, Humanities, and Arts (SHA) พร้อมด้วยนักวิเคราะห์ได้แก่ ดร.ชานนธ์ ตลอดไธสง นางสาวชนินาถ ศรีเพ็ญ นางสาวณัฐสุภา น้อยภาษี และนายพิชญุตม์ บงกชพรรณราย
ในช่วงเช้า ศาสตราจารย์ ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา และคณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำเสนอผลงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการการพัฒนานักวิจัยหลังปริญญาเอก เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร พลังงานและวัสดุชีวภาพเพื่ออนาคต ระยะที่ 2 ภายใต้แผนงานการใช้ประโยชน์ผู้มีศักยภาพสูง โปรแกรม 1 สร้างระบบผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตและพัฒนานักวิจัยระดับหลังปริญญาเอก 30 คน โดยเบื้องต้นมีนักวิจัยที่ดำเนินการวิจัยอยู่ในโครงการจำนวนทั้งสิ้น 26 ท่าน รวม 26 โครงการและมีนักวิจัยเพิ่มเติมที่มีความพร้อมในการดำเนินการวิจัยอีก 4 ท่าน ซึ่งจำนวนรวม 30 ท่าน ซึ่งตรงตามเป้าหมายของโครงการ
ในส่วนของการค้นคว้าโจทย์วิจัยร่วมกับภาคเอกชนได้มีภาคเอกชนเข้าร่วม 18 หน่วยงาน และมีกระบวนการกำกับ ติดตามผลลัพธ์ รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนความรู้ โดยภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนในการคัดเลือกนักวิจัยหลังปริญญาเอกและสนับสนุนทุนวิจัยในรูปแบบตัวเงิน (in-cash) ไม่ต่ำกว่า 10% รวมเป็นจำนวนเงิน 6,078,073 บาท (หกล้านเจ็ดหมื่นแปดพันเจ็ดสิบสามบาทถ้วน) ภาคเอกชนที่เข้าร่วม เช่น เครือมิตรผล, บริษัท อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (ประเทศไทย) จำกัด, วิสาหกิจชุมชนนามูนผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากท้องถิ่นสู่สากล, บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารแมลงสตาร์บั๊กส์ จำกัด, บริษัท บัวบก สมุนไพรไทย จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด เคพี2021 เอ็นเตอร์ไพรส์, ล้านปัญญาฟาร์ม จำกัด และ ฟาร์มจระเข้โสฬส เป็นต้น
ผลลัพธ์ที่ได้หลังจากเสร็จสิ้นโครงการ คือ 1. เพื่อเพิ่มจำนวนนักวิจัยระดับหลังปริญญาเอกที่ได้รับการพัฒนาทักษะการทำงานวิจัยตอบโจทย์ความต้องการภาคอุตสาหกรรม 2. เพื่อสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมในการปรับปรุงหรือแก้ปัญหากระบวนงานในภาคอุตสาหกรรม ไม่น้อยกว่า 20 เรื่อง นวัตกรรมที่มีสิทธิบัตร (Patent)/กระบวนการใหม่ (innovative process) ที่เกิดจากการวิจัยร่วมกับภาคเอกชน ที่ช่วยแก้ปัญหา พัฒนาคุณภาพ หรือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร พลังงาน และ วัสดุชีวภาพ ไม่ต่ำกว่า 10 ชิ้น และ 3. กลไกการพัฒนาระบบการทางานวิจัยและในรูปแบบเครือข่ายวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นกับภาคเอกชนอย่างยั่งยืน
ในช่วงบ่าย ศ.ดร.กุลธิดา ท้วมสุข และคณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำเสนอความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการ “รูปแบบและนวัตกรรมการเรียนรู้แบบสมาร์ทสำหรับการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ในสภาพแวดล้อมดิจิทัล” วัตถุประสงค์ของโครงการ 1. เพื่อพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้แบบสมาร์ต (Smart learning innovation) บนแพลตฟอร์มการเรียนรู้ดิจิทัล (Digital learning platform) สำหรับพัฒนาสมรรถนะนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ที่มีเนื้อหา วิธีการเรียนรู้ และสภาวะแวดล้อมการเรียนรู้สอดคล้องกับแบบแผนการเรียนรู้ (Learning style) ของผู้เรียน และเหมาะสำหรับการจัดการเรียนการสอนในยุคดิจิทัลและสภาวะปกติใหม่ 2. เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบสมาร์ต (Smart learning management model) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของครูและการพัฒนาสมรรถนะการเรียนรู้ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่เหมาะสำหรับการจัดการเรียนการสอนในยุคดิจิทัลและสภาวะปกติใหม่
มีโครงการย่อยจำนวน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการที่ 1-3 แพลตฟอร์มการเรียนรู้แบบสมาร์ตสำหรับการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนในสภาพแวดล้อมดิจิทัล: วิชาวิทยาศาสตร์ หัวหน้าโครงการย่อย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ คณะศึกษาศาสตร์, : วิชาคณิตศาสตร์ หัวหน้าโครงการย่อย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีระชัย สาระคร คณะวิทยาศาสตร์, : วิชาภาษาอังกฤษ หัวหน้าโครงการย่อย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรวิภา พูลผล คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โครงการที่ 4 แพลตฟอร์มการอบรมเพื่อพัฒนาครูแบบสมาร์ต ในสภาพแวดล้อมดิจิทัล หัวหน้าโครงการย่อย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา โสมาบุตร คณะศึกษาศาสตร์ และโครงการที่ 5 แพลตฟอร์มการประเมินผลการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนแบบสมาร์ต ในสภาพแวดล้อมดิจิทัล หัวหน้าโครงการย่อย: รองศาสตราจารย์ ดร.อิศรา ก้านจักร คณะศึกษาศาสตร์
โครงการนี้สามารถสร้างผลกระทบในการสร้างนักวิจัยแผนงานการยกระดับคุณภาพและสมรรถนภาพของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์กว่า 35 คน จากหลากหลายคณะวิชา และผลงานต้นแบบมีการนำร่องใช้ใน 205 โรงเรียนทั่วภาคอีสาน ซึ่งโครงการนี้สามารถพัฒนาเป็นระบบ Smart Learning National Platform ได้ในอนาคต