บพค. พบประชาคมวิจัยแม่ฟ้าหลวงพร้อมเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แหล่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำโขง

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ณ ห้องคำมอกหลวง อาคาร M-Square มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ รองผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เป็นตัวแทนผู้อำนวยการ บพค. ในการพบประชาคมวิจัยแม่ฟ้าหลวง พร้อมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “รูปแบบและแนวทางการให้ทุนแบบ Co-creation เพื่อการพัฒนาคนและงานวิจัยขั้นแนวหน้า” โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา วงษ์เกษมจิตต์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นประธานเปิดงานและต้อนรับ

โอกาสนี้ ดร.วรจิตต์ ได้กล่าวถึงการให้ทุนของ บพค. รูปแบบใหม่ โดยจะเน้นการวิจัยเป็นทีม ในรูปแบบของ Consortium เพื่อให้เห็นภาพของการวิจัยและการใช้ประโยชน์ให้ครบ Value Chain โดยระบบการวิจัยควรพัฒนาให้เป็นรูปแบบของ Co-creation เพื่อการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม รวมไปถึงการใช้ประโยชน์สู่ชุมชน

ทั้งนี้ยังได้มีการติดตามความก้าวหน้าโครงการวิจัยของนักวิจัยสังกัด มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก บพค. ในปีงบประมาณ 2564 ดังนี้

  • รศ.ดร.พรรณฤมล เต็มดี หัวหน้าโครงการ ‘โมเดลสำหรับการจำแนกประเภทของผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมโดยใช้วิธีการเรียนรู้ของเครื่องและออบเจคทีพดิสแทนส์ที่มีค่าน้ำหนัก กรณีศึกษากลุ่มผู้สูงอายุในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย’
  • ดร.พิลาสินี วงษ์นุช หัวหน้าโครงการ ‘อัตลักษณ์แบบผสมผสานของผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์แบบหลายแพลตฟอร์ม’ และ หัวหน้าโครงการ ‘การสื่อสารในภาวะวิกฤตของรัฐในยุคการแพร่กระจายของ COVID-19 การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางสุขภาพ ความรู้ความเข้าใจในประชากรกลุ่มเปราะบาง จังหวัดเชียงราย’
  • ดร.ยศพนธ์ นิติรุจิโรจน์ หัวหน้าโครงการ ‘แนวทางการคุ้มครองสิทธิในการทำงานภายใต้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019’

จากนั้น บพค. ได้เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แหล่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำโขง (Mekong Basin Civilization Museum) ภายใต้ความดูแลของ ผศ.ดร.พลวัฒน์ ประพัฒน์ทอง พร้อมด้วย ผศ. ดร.ภาณุพงษ์ ใจวุฒิ นายกานต์กุญช์ บำรุงชาติ และส่วนบริหารงานวิจัย สถาบันวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สำหรับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นพื้นที่รวบรวมองค์ความรู้และวัตถุวัฒนธรรมอันหลากหลายของลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน รวมทั้งเป็นพื้นที่ปฏิบัติการนวัตกรรมทางวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (Cultural Innovation Hub) ซึ่งในขณะนี้ได้มีการจัดแสดงนิทรรศการแสดงงานศิลปะ ของผู้เรียนหลักสูตรระยะสั้น สาขาพุทธศิลปกรรม (https://museum.mfu.ac.th/museum-index.html) ต่อมาได้เข้าเยี่ยมชมความงดงามของสถาปัตยกรรมในศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (https://sclc.mfu.ac.th/sclc-home.html) อีกด้วย