เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร. สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วยนักวิเคราะห์อาวุโส เข้าร่วมกิจกรรมสัมมนาวิชาการ “ปลุกโอกาสหลังวิกฤตโควิด-19 สร้างแรงงานเท่าทันการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง การวางแผนและพัฒนากำลังแรงงานหลังวิกฤต COVID-19 โดยมี ดร. ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร เป็นหัวหน้าโครงการ สังกัด สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute, TDRI) ณ โรงแรม ดิ เอ็มเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานครฯ โดยมีวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมเพื่อถ่ายทอดผลการศึกษาผลกระทบของวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ส่งผลในด้านแรงงานและเศรษฐกิจ สังคมและวิถีชีวิต เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และผลการศึกษาที่แต่ละหน่วยงานดำเนินการในรูปแบบเวทีเสวนา ตลอดจนการนำส่งข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่ภาครัฐบาล ซึ่งมีผู้บริหาร ผู้แทนหน่วยงานจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมกว่า 70 คน
ดร. ณัฐนันท์ฯ ได้นำเสนอผลกระทบของการแพร่ระบาด COVID-19 ต่อตลาดแรงงาน เศรษฐกิจ และสังคมในห้วงปี 2564 (Q1) -2565 (Q3) ซึ่งเกิดความเสียหายทั้งในแง่ของภาคการผลิต ภาวะตกงาน โดยผลการวิจัยพบว่า ประเทศไทยสูญเสียมูลค่าผลผลิตสูงถึง 75,620,000,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 และ 22,610,000,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2565 ส่วนในแง่ของภาวะผู้มีงานทำ ช่วงไตรมาสที่ 2/2565 คาดว่ามีประมาณ 31.28 ล้านคน และทำให้ประเทศไทยสูญเสียตำแหน่งงานสูงสุดถึง 0.46 ล้านคน อันเป็นผลพวงที่สำคัญจากการที่รัฐบายออกนโยบายสั่งปิดสถานประกอบการและธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในการควบคุมการเคลื่อนย้ายของประชากร รวมถึงมาตรการที่เข้มงวดเกินไปอย่างการห้ามประชาชนออกนอกเคหะสถานยามวิกาล (เคอร์ฟิว) แลกกับการสูญเสียทางเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจ้างงานในภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมลดลงกว่า 5 แสนคนและ 2 แสนคนในปี 2564 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ภาคแรงงานการเกษตรของประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากภาคการเกษตรไทยเป็นส่วนหนึ่งในโครงข่ายรองรับความยืดหยุ่นของตลาดแรงงานไทย ซึ่งค่อนข้างเป็นอิสระจากวงจรธุรกิจอื่น นอกจากนี้ ผลของมาตรการปิดเมืองยังทำให้แรงงานเกิดการย้ายถิ่นฐานชั่วคราวออกไปยังต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ อันเป็นผลพวงจากความไม่แน่นอนของมาตรการรัฐและหาโอกาสการทำงาน
ส่วนผลการศึกษาการเข้าถึงนโยบายการช่วยเหลือเยียวยาของทางภาครัฐ (โครงการคนละครึ่ง เราชนะ เรารักกัน เราเที่ยวด้วยกัน) พบว่า มีเพียงร้อยฃะ 68 ที่ได้รับการเยียวยา และร้อยละ 16 ของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด พบว่า ไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ เลย จึงเสนอแนะแนวทางนโยบาย (Policy recommendation) เพื่อเตรียมความพร้อมของกำลังแรงงานหลังวิกฤตโควิด-19 ดังนี้
นอกจากนี้ ดร.ณัฐนันท์ฯ ยังได้นำเสนอผลการศึกษาการจ้างงานของกลุ่มแรงงานต่างด้าว การเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาลที่ยังเป็นจุดด้อยของระบบประกันสังคมของกลุ่มแรงงานนี้ และส่งข้อเสนอแนะว่า ควรผลักดันการลงทะเบียนแรงงานให้เป็นมาตรฐานอาชีพ
โอกาสนี้ ยังได้ถอดบทเรียนการพัฒนาสมรรถนะของทรัพยากรมนุษย์ผ่านการเรียนรู้ STEAM Education ที่ต้องใส่องค์ความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์เข้ามาร่วมกับทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์อีกด้วย เพื่อให้เกิดการพัฒนากำลังคนด้วยความรู้เชิงทักษะการทำงานหรือ Soft skills โดยเฉพาะหลัก 4C: Critical thinking, Creativity, Collaboration, Communication ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการยกระดับการศึกษาของคนไทยให้มีช่องว่างน้อยลง และเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง
โอกาสนี้ ศ.ดร.สมปองฯ ยังได้แลกเปลี่ยนแง่มุมความคิดของการวิจัยในครั้งนี้อีกว่า แรงงานทักษะสูงหรือกำลังคนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครัังนี้เป็นอย่างไร ตลอดจนภาคการเกษตรจะปรับตัวและพัฒนาอย่างไร เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของแรงงานระดับฐานรากที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดเช่นนี้ เพื่อนำส่งข้อมูลข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อไป