เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.รินา ภัทรมานนท์ อาจารย์จตุรภรณ์ โชคภูเขียว ประธานคลัสเตอร์ บพค. ด้าน Frontier Research และ Frontier SHA Coding & AI และ พนักงาน บพค. เข้าร่วมรับเสด็จสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เนื่องในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานประชุมวิชาการ The 30th Federation of Asian and Oceanian Biochemists and Molecular Biologists (FAOBMB) Conference ภายใต้แนวคิด “Biochemistry and Molecular Biology in the New Normal Era” โดยมีวัตถุประสงค์การจัดงาน เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการของงานวิจัยด้านชีวเคมีและชีวโมเลกุล รวมถึงการสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 22 – 25 พฤศจิกายน 2566 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัล ลาดพร้าว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานครฯ โดยมีผู้เข้าร่วมงานทั้งคนไทยและชาวต่างชาติร่วมงานอย่างคับคั่งกว่า 500 คน
โอกาสนี้ ศ. สมปองฯ ได้กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง “PMU-B Funding Opportunities – Manpower Development Policy: skill sets of future biochemists and molecular biologists, and related curriculum” แก่นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และอาจารย์มหาวิทยาลัยด้านชีวเคมีและชีวโมเลกุล ซึ่งมีผู้เข้าร่วมรับฟังมากกว่า 80 ท่าน ณ ห้องกรุงเทพ 2 โดยได้เน้นย้ำถึงประวัติความเป็นมาของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่มีตั้งแต่ยุคการบริหารราชการแผ่นดินของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งได้ริเริ่ม 3 สภาที่เป็นเสาหลักของการขับเคลื่อนประเทศ ได้แก่ สภาการศึกษา สภาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และสภาการวิจัย ได้มีการดำเนินงานเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2562 มีการปฏิรูประบบงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน เรียกว่า ระบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกันกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 อันก่อให้เกิดหน่วยงานที่รับผิดชอบแผนงานตามบทบาทและหน้าที่ตรงประเด็นมากขึ้น แบ่งออกเป็น 1) หน่วยงานด้านนโยบายและแผนงาน 2) หน่วยงานด้านการขับเคลื่อนนโยบายและจัดสรรงบประมาณ 3) หน่วยงานบริหารและจัดการทุนวิจัย และ 4) หน่วยงานด้านปฏิบัติการวิจัย ซึ่ง บพค. เป็นหน่วยบริหารและจัดการทุน 1 ใน 9 แห่งที่อยู่ภายใต้ระบบ อววน. นี้เช่นกัน โดยได้รับผิดชอบการจัดสรรทุนวิจัยเชิงกลยุทธ์ (Strategic fund, SF) ที่มีปริมาณมากถึง 60% ของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กองทุน ววน.) และส่วนที่เหลืออีก 40% เป็นเงินที่จัดสรรเพื่อการวิจัยงานด้านมูลฐาน (Fundamental fund, FF) ในการนี้ บพค. มีภารกิจหลักที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนทักษะสูงให้ตรงตามความต้องการของประเทศ การสร้างงานวิจัยขั้นแนวหน้าเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย
ในการนี้ ศ. สมปองฯ ได้กล่าวมุฑิตาจิตขอบคุณผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้ง Biochemistry and Molecular biology section หรือ BMB Thailand ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2516 จำนวนทั้งสิ้น 6 ท่านที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จนเกิดเป็นเครือข่ายนักวิจัย นักวิชาการด้านชีวเคมีและชีวโมเลกุลมาจวบจนปัจจุบันนี้ เป็นวาระครบรอบ 50 ปีของ BMB Thailand และครบรอบ 30 ปีของ Federation of Asian and Oceanian Biochemists and Molecular Biologists (FAOBMB) ที่มุ่งส่งเสริมการสร้างเครือข่ายนักวิจัยระหว่างภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย รวมทั้ง กล่าวขอบคุณ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ผู้เป็นนักวิจัยกิตติมศักดิ์ด้านชีวเคมีและชีวเคมีศึกษาของประเทศไทยด้วย
สำหรับประเด็นที่กำลังเป็นที่น่าสนใจสำหรับนักวิจัยชีวเคมีและชีวโมเลกุล หรือแม้แต่สาขาอื่นๆ ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาหารแห่งอนาคต การแพทย์ส่วนบุคคล วัคซีนและปัญญาประดิษฐ์ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่โลกต้องเผชิญและรับมือให้ได้ต่อการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โอกาสนี้ ศ. สมปองฯ ได้เชิญชวนให้นักวิจัยและอาจารย์ทุกท่านร่วมกันพัฒนางานวิจัยให้ตอบสนองต่อเป้าหมายของการพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักของประเทศกลุ่มรายได้ปานกลาง ให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี พ.ศ. 2570 ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมทำงานกับ บพค. ผ่านช่องทาง National Postdoctoral/Postgraduate Thailand ซึ่งกำลังจะเป็นแพลตฟอร์มสำคัญของการทำงานที่มีแนวโน้มการเติบโตในสายงาน (Career path) นี้ของประเทศไทยได้ และการสร้างและพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงผ่านโครงการวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences, TAS) หรือ ธัชวิทย์ มิติที่ 3 เพื่อผลิตบุคลากรวิจัยสมรรถนะสูงด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคต (Future Graduates Platform) ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกด้วยหลักสูตรใหม่ที่ตอบสนองต่อการปรับตัวในสังคมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะการส่งเสริมทักษะเฉพาะบุคคล (Soft skills) นั้นเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่ง บพค. พร้อมรับฟังและรับข้อเสนอโครงการจากนักวิจัยทุกคน เพื่อร่วมกันสร้างคนที่จะผลักดันเศรษฐกิจให้ประเทศก้าวหน้าต่อไป