เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) โดย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. เข้าร่วมรับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนระบบนิเวศธุรกิจฐานวิจัยนวัตกรรมของประเทศไทย (Thailand Deep Tech Startup Ecosystem) และร่วมเวทีเสวนา ในหัวข้อ “Opportunities and Ecosystem of Thailand Deep Tech Landscape” ในงาน Chula Deep Tech Demo Day 2023 จัดโดย ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องเพลนารี ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวเปิดงาน
ทั้งนี้ เวทีเสวนาฯ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สมปองฯ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) คุณวิรัตน์ ธัชศฤงคารสกุล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และ รองศาสตราจารย์ ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล รองผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์วิจัย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นการใช้กลไกสนับสนุนและส่งเสริมให้ deep tech startup เติบโตและประสบความสำเร็จ พร้อมทั้งกฎหมายที่รองรับธุรกิจ deep tech startup ตลอดจนความสำคัญของ deep tech startup ในประเทศไทย ที่ในปัจจุบัน การพัฒนาและส่งเสริม deep tech startup เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดด และยังสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสู่ระดับโลก โดยทุกภาคส่วนมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อน ทั้งระดับนโยบายของประเทศ การผลักดันของภาครัฐ และการสนับสนุนของภาคเอกชน
ด้าน บพค. ได้เล็งเห็นว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จของ deep tech startup คือ กลยุทธ์การสร้างความร่วมมือการวิจัยกับทุกภาคส่วนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงการได้รับความร่วมมือจากนักลงทุน การสร้างคนที่มีศักยภาพสูง (Talent) สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ สร้างเทคโนโลยี ที่สามารถทำให้ธุรกิจเจริญเติบโต รองรับสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ และ บพค. จะเป็นหน่วยงานที่เตรียมความพร้อมในการสร้างและพัฒนากำลังคนศักยภาพสูง เพื่อนำองค์ความรู้ทางนวัตกรรมมาสร้างให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศต่อไป ซึ่งปัจจุบัน บพค. ได้สนุนการพัฒนากำลังคนทักษะสูงในส่วนของ National Postdoc/Postgrad Platform, STEM & Coding, Super AI Engineer ควบคู่กับงานวิจัยที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหรือเทคโนโลยีขั้นแนวหน้า (Frontier Technology) เช่น Quantum Technology, High Energy Physics, Plasma & Fusion Technology และ Space Technology เป็นต้น
นอกจากนี้ ภายในงาน บพค. ยังได้ร่วมออกบูธเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยที่ บพค. สนับสนุนภายใต้แผนงานการพัฒนากำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์สำหรับสาธารณชน โดยสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย และ ดร.เจิมพิภัช เจริญปัญญาศักดิ์ เป็นผลผลิตที่เกิดจากการสร้างบุคลากรที่มีความสามารถในการทำงานด้านปัญญาประดิษฐ์ สร้างนวัตกรรม นักวิจัย และ Startup ผ่านโครงการ Super AI Engineer ที่ได้รับการบ่มเพาะอย่างเข้มข้น ได้สร้างผลงาน “VR for occupational therapy” ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยี และการสื่อสารต่าง ๆ เพื่อช่วยส่งเสริมด้านการดูแลสุขภาพ การรักษาทางด้านการแพทย์ สามารถต่อยอดนำไปสู่การรักษาแบบจำเพาะบุคคล (Personalized Medicine)
อย่างไรก็ตามการสร้างและพัฒนากำลังคนเป็นอีกหนึ่งกลไกที่สำคัญมาก ซึ่งการลงทุนเพื่อสร้างคนทักษะสูง จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสังคม Startup ให้สามารถเจริญเติบโตและมีศักยภาพสูงในการเสริมสร้างขีดความความสามารถในการแข่งขันทั้งในระดับอาเซียน และในระดับโลก ต่อไป