เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) โดย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.คมกฤต เล็กสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) คุณธรรมภรณ์ ประภาสะวัต ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 3 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และคุณพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักงานกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ร่วมเวทีการเสวนา ในหัวข้อ “ทบทวน ไปต่อกับการสนับสนุนการสร้างกำลังคน ววน. และเสียงของกำลังคนดี ประเทศมีอนาคตอย่างไร” ณ ห้องสัมมนา B1 6 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา เกียกกาย ในประเด็นเรื่องรูปแบบการพัฒนากำลังคนทักษะสูงของประเทศและสายงานเร่งด่วนเพื่อให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ รวมถึงการสร้างและพัฒนากำลังคนด้าน ววน. เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และช่วยพัฒนาสังคมไทยให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ซึ่งวิทยากรได้นำเสนอแนวทางสำคัญในการพัฒนากำลังคนของประเทศ ทั้งในรูปแบบการพัฒนาแบบรายประเด็น (Agenda base) และการพัฒนาแบบใช้องค์ความรู้จากงานวิจัย (Researcher base) ที่สามารถตอบโจทย์การขับเคลื่อนแผนงาน ววน. ประจำปี 2566 – 2570 ทั้ง 4 ยุทธศาสตร์ ตลอดจนการพัฒนากำลังคนที่มีทักษะสูง เน้นทางด้าน Technology Absorptive Capability ในการแปลงเทคโนโลยีสู่การใช้งานจริง ณ ปัจจุบัน สายงานที่เป็นประเด็นเร่งด่วนในการพัฒนาบุคลากรวิจัยของประเทศคือ สายงานด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence)/เทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะ AI for Medical หรือ AI for Fintech ซึ่งตามแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ. 2565 – 2570 จะเกิดบุคลากรของประเทศด้าน AI เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30,000 คน และเกิดมูลค่าตลาด 60,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีสายงานที่สำคัญอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น Semi-conductor และนักชีวสารสนเทศ (Bioinformaticians)
พร้อมกันนี้ นักวิจัยที่ได้รับทุน จาก บพค. ซึ่งเป็นผลผลิตของการสร้างและพัฒนากำลังคนทักษะสูง ได้แชร์ประสบการณ์ มุมมองการสร้างและพัฒนากำลังคนด้าน ววน. และโอกาสที่ได้รับจากการสร้างและพัฒนากำลังคน ววน. โดย ดร.อัษฎางค์ ไตรตั้งวงศ์ Senior Chemical Engineer บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด ซึ่งได้รับทุนจากการทำวิจัยในโครงการ Industrial Postdoctoral ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมจนประสบความสำเร็จ โดยได้ทำงานในบริษัทหลังจากเข้าร่วมโครงการ ในส่วนของการวิจัยนวัตกรรม ซึ่งถือว่าการที่นักวิจัยได้มีโอกาสทำงานร่วมกับทางอุตสาหกรรม เป็นการส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยง/บูรณาการความรู้ ระหว่างภาคมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ยังเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมไทย เพิ่มคุณภาพของมาตรฐานสินค้าและผลิตภัณฑ์โดยใช้ ววน. และยังมีการพัฒนาองค์ความรู้ขั้นแนวหน้า/ความรู้ชนิดใหม่ ๆ ที่สามารถใช้งานได้จริง ผ่านโจทย์จริงจากอุตสาหกรรม และ คุณภทรกร นิจจรัลกุล CEO, Deep Capital ซึ่งเป็นผู้ได้รับโอกาสจากการเข้าร่วมโครงการ Super AI Engineer จนสามารถนำไปต่อยอดและ spin-off ให้เกิดบริษัท Startups และสร้างโจทย์ให้กับรุ่นน้อง ซึ่งทั้ง 2 ท่าน ให้มุมมองว่า การสร้างคนเป็นสิ่งสำคัญมาก และควรได้รับการสนับสนุนต่อไป พร้อมทั้งการสนับสนุนให้มีการทำงานร่วมกันในหลายภาคส่วนแบบบูรณาการผ่านแก้ปัญหาโจทย์จริงจากฝั่ง Demand (Demand-Driven) จึงจะสำเร็จและยั่งยืนต่อไป