เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) จัดการประชุมนำเสนอความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการวิจัยด้าน Coding ในรูปแบบ Consortium ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ภายใต้แผนงาน P21 ยกระดับการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ และนวัตกร ที่มีทักษะสูง ให้มีจำนวนมากขึ้น และแผนงานย่อย N44 (S4P21) พัฒนาเยาวชนให้เป็นผู้มีสมรรถนะและความรู้ ฉลาดรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ รวมถึง Coding โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2566 และการประชุมร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนากำลังคนด้าน Coding อย่างยั่งยืนเพื่อสร้างผลกระทบที่สำคัญให้แก่ประเทศ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ประภาส จงสถิตย์วัฒนา และ ดร.สุรพันธ์ เมฆนาวิน ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะนักวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินโครงการทั้ง 5 โครงการประจำปี 2566 เครือข่ายภาคเอกชน และนักวิเคราะห์ บพค. ณ ห้องประชุมหว้ากอ 1 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ชั้น 14 อาคารจัตุรัสจามจุรี กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมในห้องประชุม (Onsite) จำนวน 31 คน และผู้เข้าร่วมออนไลน์ (Zoom meeting) จำนวน 83 คน โดยแบ่งช่วงการนำเสนอออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่ 1) Thailand Coding Competency Map และ Talent Pool 2) สรุปการดำเนินงานโครงการพัฒนาทักษะโค้ดดิ้งระดับพื้นฐาน (Basic skill) 3) สรุปการดำเนินงานโครงการพัฒนาทักษะโค้ดดิ้งขั้นสูง (Advance skill) จนถึงระดับผู้เชี่ยวชาญ (Expertise) ในเทคนิคเฉพาะทาง 4) แพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้านโค้ดดิ้งอย่างยั่งยืน Thailand PMU-B Coding & AI Academy ในการประชุมครั้งนี้ นักวิจัยได้เห็นประโยชน์ในการทำงานร่วมกันและจะมีการหารือการสร้างเครือข่ายในรูปแบบ Consortium เพื่อมุ่งเป้าการพัฒนาคนให้เกิดผลลัพธ์และผลกระทบอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ตามที่ บพค. ได้สนับสนุนเงินทุนวิจัยสำหรับการพัฒนาเยาวชนด้าน Coding รวมถึงพัฒนาครู ผู้บริหารสถานศึกษาและประชาชนทั่วไป ประจำปี 2566 ไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทั้งหมด 5 โครงการ ซึ่งกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย ได้แก่ 1) โครงการ บิ้วดิ้งโค้ดเดอร์ (Building Coders) โครงพัฒนาทักษะเดิมและสร้างทักษะใหม่ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และการเขียนโปรแกรม สำหรับเยาวชน นักวิจัย นวัตกรและบุคคลทั่วไปใน 17 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อเตรียมตัวสำหรับตลาดแรงงาน โดยศาสตราจารย์ ดร.สมยศ พลับเที่ยง เป็นหัวหน้าโครงการและดูแลเขตภาคเหนือ 2) โครงการโมเดลระบบนิเวศการเรียนรู้ที่บูรณาการ Coding, AI สำหรับเยาวชน โดยศาสตราจารย์ ดร.สุมาลี ชัยเจริญ เป็นหัวหน้าโครงการและดูแลเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3) โครงการพัฒนาเพิ่มผู้มีความสามารถพิเศษระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาและเครือข่ายด้านวิทยาการหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และโค้ดดิ้ง (Robotics, AI, and Coding: RAC) โดยรองศาสตราจารย์ ดร.สยาม เจริญเสียง เป็นหัวหน้าโครงการด้าน Robotics 4) โครงการพัฒนาศักยภาพด้านการเขียนโปรแกรมเพื่อทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมและสัญญาณสมอง ผ่านการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์และปัญญาประดิษฐ์ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์ เป็นหัวหน้าโครงการด้านการแพทย์ 5) พัฒนาพลเมืองดิจิทัลเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะด้วย STEM, Coding, IoT และ AI โดย คุณนพดร ปัญญาจงถาวร เป็นหัวหน้าโครงการด้านเกษตรอัจฉริยะ
ในการนี้ อ.ดร.ไพสิฐ ขันอาสา อาจารย์ประจำสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้นำเสนอผังสมรรถนะโค้ดดิ้ง (Coding competency map) ที่ผ่านการทำประชาพิจารณ์มาแล้วจำนวน 2 ครั้ง และกำลังจะเริ่มทำประชาพิจารณ์ครั้งที่ 3 ในวันที่ 22 กันยายน 2566 ได้นำเสนอความก้าวหน้าการจัดทำผังสมรรถนะโค้ดดิ้งสำหรับใช้เป็นมาตรฐานของประเทศไทยว่า มีทั้งหมด 4 ระดับได้แก่ Level 1-4 แบ่งเป็นระดับเริ่มต้น (Beginner) และระดับกลาง (Intermediate) โดย Level-1 เป็นหลักการพื้นฐานเชิงคำนวณเพื่อแก้โจทย์อย่างง่าย (Computational Thinking Foundation) Level-2 เป็นหลักการพื้นฐานทางตรรกศาสตร์ที่เข้าใจโครงสร้างภาษาคอมพิวเตอร์และการเขียนโปรแกรมแบบบล็อก (Basic Programming & Data Representation) Level-3 เป็นหลักการคิดและใช้ตรรกศาสตร์เพื่อแก้โจทย์ในชีวิตประจำวันด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ได้ (Introductory Problem Solving with Programming for Daily Life) และ Level-4 เป็นการบูรณาการการคิดเชิงตรรกศาสตร์ ประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีที่น่าสนใจเพื่อเขียนโปรแกรม และแก้โจทย์ปัญหาทางอุตสาหกรรมได้ (Practical Coding for Real World Problems) ซึ่งสมรรถนะโค้ดดิ้งนี้เป็นฐานในการวัดระดับทักษะเพื่อที่จะต่อยอดใช้ในทักษะเฉพาะทางได้ อาทิ Blockchain Fintech Robotics AI และอื่นๆ ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิได้ให้ข้อสังเกตว่า การจัดทำผังสมรรถนะโค้ดดิ้งของประเทศไทยนี้สามารถเทียบกับระดับโค้ดดิ้งในสากลได้หรือไม่ และสามารถเทียบเคียงได้มากน้อยเพียงใด เพื่อประกอบการพิจารณาปรับปรุงในการทำประชาพิจารณ์ครั้งสุดท้ายต่อไป
ทั้งนี้ การประชุมร่วมกันของนักวิจัยด้าน Coding ในประเทศไทยได้ร่วมกันสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้อย่างยั่งยืนผ่าน Thailand PMU-B Coding & AI Academy โดยแพลตฟอร์ม PowerClass อันมีการนำเอาองค์ความรู้ สื่อการสอนและผลงานวิจัยต่างๆ ของแต่ละโครงการมาบรรจุไว้ เพื่อเป็นแหล่งรวมวิทยาการความรู้ที่สามารถเผยแพร่แก่สาธารณะให้ประชาชนทุกช่วงวัยสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ตลอดเวลา และไม่มีค่าใช้จ่าย โดยสามารถเข้าศึกษาเพิ่มเติมได้ผ่านเว็บไซต์ https://codingacademy.pmu-hr.or.th/