เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ผศ. ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ รองผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วยนักวิเคราะห์จาก บพค. และคณะผู้บริหารจาก University of Science and Technology (UST) สาธารณรัฐเกาหลี นำโดย Dr. Ieehwan KIM อธิการบดี UST และคณะผู้ติดตาม เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการ NANOTEC และ ดร. ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการ NANOTEC ให้การต้อนรับพร้อมนำเสนอบทบาทหน้าที่ของ สวทช. รวมทั้งวิสัยทัศน์ของ NANOTEC ตลอดจนหารือแนวทางในการสร้างความร่วมมือที่เป็นไปได้ระหว่าง NANOTEC บพค. และ UST
ต่อมาได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยด้าน Nanorobotic system and nanoneedle และ Nano safety and bioactivity โดยมี คุณอุดม ลิ่วลมไพศาล หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีระบบวัดและควบคุมระยะไกล กลุ่มวิจัยระบบอัจฉริยะ NECTEC ได้แนะนำคณะฯ UST เกี่ยวกับศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน หรือ Sustainable Manufacturing Center (SMC) และได้พาเข้าเยี่ยมชม NECTEC Pilot Plant
จากนั้นวันที่ 15 กันยายน 2566 คณะผู้บริหารจาก UST สาธารณรัฐเกาหลี และคณะผู้แทนจาก บพค. ได้เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) จังหวัดนครนายก โดยได้รับเกียรติจาก รศ. ดร.สมศักดิ์ แดงติ๊บ ผู้จัดการศูนย์วิศวกรรมและเทคโนโลยีนิวเคลียร์ชั้นสูง สทน. กล่าวต้อนรับพร้อมนำเสนอภาพรวมขององค์กร และแนะนำ Thailand Tokamak-1 (TT-1) ซึ่งเป็นอุปกรณ์กักเก็บพลาสมาพลังงานสูงเครื่องแรกของประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียน และเครือข่ายพลาสมาและนิวเคลียร์ฟิวชันของประเทศไทย (CPaF) ที่มีความร่วมมือจาก 24 มหาวิทยาลัยและหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ อาทิ กฟผ. สซ. IAEA CEA และ ASIPP เป็นต้น รวมถึงหารือแนวทางความร่วมมือระหว่าง สทน. ธัชวิทย์ และ UST ผ่านบันทึกข้อตกลงที่ทาง บพค. ได้ทำร่วมกับ UST โดยมีการวางแผนในการส่งบุคลากรไปเรียนรู้และยกระดับความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีพลาสมาฟิวชันที่สาธารณรัฐเกาหลี นอกจากนี้ คณะผู้แทนฯ ได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมเครื่อง Thailand Tokamak-1 (TT-1) และห้องควบคุมเครื่องอีกด้วย
บพค. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือระหว่าง บพค. และ UST ในครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยในประเทศไทยเกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และบุคลากรนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญสูงในเทคนิคเฉพาะด้าน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) และเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ (Nuclear energy technology) ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลี