เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ดร.ศุภฤกษ์ อัครวิทยาพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ บพค. พร้อมด้วยนักวิเคราะห์อาวุโส ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบโครงการวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences, TAS) หรือ “ธัชวิทย์” เข้าร่วมการประชุมวิชาการ Rail Research and Technology Conference 2023 (RRTC2023) ภายใต้ธีมการจัดงาน “Industry – Academic Linkage” จัดโดยความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) กระทรวงคมนาคม ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญระบบราง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาคอุดมศึกษา และภาคเอกชน ระหว่างวันที่ 6 – 7 กันยายน 2566 ณ ห้องเวิลด์บอลรูม ชั้น 23 โรงแรม Centara Grand at Central World โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีระบบรางระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชนให้ตอบโจทย์ต่อความต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศ โดยมีนักวิจัย นักวิชาการ นักศึกษา วิศวกร และผู้ประชาชนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีระบบรางเข้าร่วมงานกว่า 300 คน
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานกล่าวเปิดงานประชุมฯ และกล่าวบรรยายถึง เป้าหมายของประเทศที่ต้องการพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง เปลี่ยนจากสถานะลูกค้า (Consumer) มาเป็นผู้ผลิตระดับอุตสาหกรรม (Manufacturer) โดยมีสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) เป็นหน่วยงานรับการถ่ายทอด เรียนรู้ และต่อยอดเทคโนโลยีจากอุตสาหกรรมระบบรางชั้นแนวหน้าของโลก แล้วส่งต่อองค์ความรู้ไปยังภาควิชาการการศึกษาและภาคเอกชนของไทย นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังมีภารกิจในการเปลี่ยนระบบรถไฟที่ใช้พลังงานดีเซลมาเป็นระบบไฟฟ้าและแบตเตอรี่ เพื่อมุ่งเป้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ
ด้าน ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.นพ. สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ได้บรรยายถึงแนวทางและนโยบายในการสนับสนุนทุนการพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมใหม่ โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 – 10 ปีนี้ โดยระบบรางและโลจิสติกส์เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญและมีความท้าทายเป็นอย่างมากสำหรับประเทศไทย ซึ่งมีความต้องการวิศวกรภาคการผลิตชิ้นส่วน 2,000 คน ผู้ควบคุมระบบไอที 1,500 คน ผู้ควบคุมกลไกการเดินรถ 1,480 คน และวิศวกรคุมการก่อสร้างและซ่อมบำรุง 2,000 คน และแหล่งทุนการวิจัยเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund, SF) ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) พร้อมที่จะสนับสนุนการพัฒนาด้านระบบรางของประเทศให้เป็น Priority ที่สำคัญ
โอกาสนี้ บพค. ได้ร่วมพูดคุยและหารือความร่วมมือการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงผ่านแพลตฟอร์มธัชวิทย์ด้านเทคโนโลยีระบบรางกับอาจารย์นักวิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดำรงค์ อมรเดชาพล และ ดร.พงศ์วิทย์ พรมสุวรรณ จากมหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร. วเรศรา วีระวัฒน์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จิรพรรณ เลี่ยงโรคาพาธ จาก มหาวิทยาลัยมหิดล Ms Walaiporn Leelawannee จาก บริษัท ALSTOM Mr Shima Hiroaki จาก Japan Freight Railway Company และ Mr Minami Yusuke จาก Japan Transport and Tourism Research Institute เพื่อผลิตกำลังคนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบราง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศไทยต่อไป