เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริปก พิศสุวรรณ รองผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วยนักวิเคราะห์อาวุโส เดินทางเข้าร่วมการประชุมสัมมนาคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ครั้งที่ 8 และเยี่ยมชมนิทรรศการอุดมศึกษากับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์ BCG ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 2 กันยายน 2566 ณ หอประชุมวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ภายในงานมีการจัดแสดงผลงานและนิทรรศการของนักศึกษาและประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายการส่งเสริมกิจกรรมการพัฒนาท้องถิ่นตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยมีคณะผู้บริหารหน่วยงานในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณาจารย์ นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไปเข้าร่วมการประชุมประมาณ 1,000 คน ในการนี้ พณฯ พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานดังกล่าว และศาสตราจารย์ ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. นำคณะผู้บริหารหน่วยงานในกระทรวงเข้าร่วม มีนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมข้าราชการให้การต้อนรับ
ศาสตราจารย์ ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ได้กล่าวบรรยายถึงแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ BCG ว่า ประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มนำคำว่า เศรษฐกิจ BCG ขึ้นมาใช้เป็นชาติแรก ก่อนประเทศอื่นๆ จะนำมาประยุกต์ใช้เฉกเช่นในทุกวันนี้ อันประกอบไปด้วย Bio (ชีวภาพ) Circular (หมุนเวียน) และ Green (สีเขียว) ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทยที่สามารถนำเอาโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจทั้ง 3 รูปแบบมาบูรณาการให้เกิดการขับเคลื่อนไปพร้อมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน และได้ผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติในห้วงเดือนมกราคม ปี 2564 และเมื่อไม่นานมานี้ ผู้นำเอเปค ได้รับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” ในการประชุม APEC 2022
ทั้งนี้ สถานการณ์และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก (Megatrends) ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของความเป็นเมือง สังคมสูงวัย การเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและการขาดแคลนทรัพยากร ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และภาวะโควิด-19 หรือการเกิดโรคอุบัติใหม่ จึงต้องใช้ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเป็นยุทธศาสตร์ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วยการสร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง สร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลง และยกระดับอุตสาหกรรม BCG ให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน
บทบาทของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญในการรับมือกับสภาวะดังที่กล่าวมา ต้องสานพลังการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไทย พลิกโฉมให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืนด้วยภารกิจ 3+1 ด้านได้แก่ สร้างคน สร้างความรู้ สร้างนวัตกรรม และพัฒนาประเทศผ่านการขับเคลื่อน 6 กลไก ดังนี้ 1) R&D Technology Innovation 2) Funding Incentive 3) Entrepreneurship Development 4) Service Standard Infrastructure Network 5) Capability Building Re-skill/Up-skill 6) Law & Regulation Revision และฟันเฟืองเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันยุทธศาสตร์ BCG ให้ไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้
จากนั้น ผู้บริหาร บพค. และทีมนักวิเคราะห์ได้เข้าร่วมการประชุมเสวนาวิชาการ “การบูรณาการความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏ” โดยเป็นหนึ่งในกิจกรรมของการจัดประชุมสัมมนาฯ ซึ่งมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนแง่มุมบทบาทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ก่อนจะเดินทางลงพื้นที่เยี่ยมชมโมเดลเศรษฐกิจ BCG ต้นแบบในพื้นที่อำเภอต่างๆ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันถัดไป