เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2566 ศ. ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วยนักวิเคราะห์ เข้าร่วมงานแถลงข่าว “1 ปี แผนปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย และก้าวสำคัญในการขับเคลื่อน Medical AI” และร่วมด้วยพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา เรื่อง “การวิจัยพัฒนาชุดข้อมูลและนวัตกรรมเพื่อต่อยอดการใช้ประโยชน์ด้านปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์” ระหว่าง กรมการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก บพค. ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ในการนี้ ศ. ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวแสดงความยินดีที่หน่วยงานต่าง ๆ ในกระทรวงฯ ได้ร่วมผลักดันการดำเนินงานด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในประเทศให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยที่สำคัญ ซึ่งแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าวนี้จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนให้การพัฒนางานวิจัยทั้งในด้านการแพทย์ และด้านอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต มีความก้าวหน้ามากขึ้น โดยมี ศ. ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เลขานุการร่วมของคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวรายงานผลการดำเนินงานที่สำคัญของแผนปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย และการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลเปิดด้านการแพทย์
จากนั้น ศ. ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. ได้ร่วมเป็นวิทยากรในกิจกรรมเสวนา “ทิศทางการขับเคลื่อนการวิจัยพัฒนาชุดข้อมูลและนวัตกรรมเพื่อต่อยอดการใช้ประโยชน์ด้านปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์” ร่วมกับหัวหน้าโครงการภายใต้การดำเนินงาน Medical AI Consortium ทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ นพ.ภัทรวินฑ์ อัตตะสาระ ผู้อำนวยการสำนักงานดิจิทัลการแพทย์ กรมการแพทย์ รศ. นพ.สิทธิ์ พงษ์กิจการุณ หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช.
ศ. ดร.สมปอง กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีความพร้อมในด้านการบริการทางการแพทย์ที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก ซึ่ง บพค. เล็งเห็นโอกาสสำคัญนี้ ในการพัฒนาระบบนิเวศของโครงสร้างพื้นฐานการวิจัย องค์ความรู้ และการพัฒนากำลังคนในด้านปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยี เพื่อการต่อยอดอุตสาหกรรมทางการแพทย์ โดยระบบฐานข้อมูลเปิดด้านการแพทย์ที่จะเป็นผลผลิตของโครงการ จะเป็นเครื่องมือสำคัญให้กับบุคลากรวิจัยและเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ มีมาตรฐานในการเก็บข้อมูลและเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลร่วมกัน โดยจะมีการพัฒนานักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และนักวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์จากความร่วมมือของเครือข่ายภายใต้ Medical AI Consortium ภายใต้การใช้ระบบฐานข้อมูลร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลให้ระบบสาธารณสุขของประเทศได้รับการพัฒนาทั้งในด้านกระบวนการ เครื่องมือ และเทคโนโลยีในการตรวจรักษาเปลี่ยนแปลงไปใช้การวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้น ช่วยให้การคัดกรองและวิเคราะห์อาการของผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งนักวิจัยของไทยยังสามารถเข้าถึง Data Set ทางการแพทย์สำหรับการนำไปสร้างโมเดลทางด้านปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสนับสนุนการรักษาทางไกลสำหรับการให้บริการทางการแพทย์ ยกระดับนวัตกรรมด้านการแพทย์และระบบสาธารณสุขให้มีความทันสมัย รวมทั้งผลักดันประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ของอาเซียนในอนาคต