เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ รองผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วย คุณอินทพันธ์ุ บัวเขียว รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คุณศิริศักดิ์ คชพัชรินทร์ รองประธานสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาพร บุญรุ่ง หัวหน้าสาขาวิชาภาษาเกาหลี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากรร่วมกันเสวนาในหัวข้อ Frontier SHA toward Global Creative economy ณ โรงแรมเซนทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิร์ล กรุงเทพฯ โดยมีเป้าหมายมุ่งแลกเปลี่ยน แนวคิด กระบวนการ การพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์
หลายท่านอาจตั้งคำถามว่า เพราะอะไรการวิจัยในประเด็นด้าน Social Humanity & Art (SHA) จึงควรมุ่งไปทางสื่อสร้างสรรค์นั้น ทางวิทยากรทุกท่านต่างอธิบายตามในบริบทความถนัดของตน ซึ่งสรุปได้ว่าอุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์นั้น เป็นสิ่งที่สามารถสร้างรายได้มหาศาลให้แก่ประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่คุ้มค่าต่อการลงทุน และถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างอาชีพใหม่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยให้พ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง
ภายในการประชุม วิทยากรแต่ละท่านต่างให้ข้อมูล ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็นการจะสามารถผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์ Creative Content ได้นั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงหลายประเด็น โดยสามารถศึกษา จากกรณีของประเทศเกาหลีได้ ซึ่งเป็นประเทศที่ริเริ่มการส่งออกอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมและประสบผลสำเร็จดังที่หลายท่านได้เห็นผลิตภัณฑ์จากเกาหลีในชีวิตประจำวันผ่านสื่อต่าง ๆ การสร้างภาพยนตร์และสื่อสร้างสรรค์ ที่เกาหลีจะเน้นให้เนื้อหา Content มีความเป็นสากล ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ทั้งการนำเสนอและการวางแผนการตลาด การกำหนดนโยบายและได้การผลักดันจากภาครัฐอย่างจริงจัง ส่งผลให้เกิดการผลักดันและส่งออกอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมที่เป็นกิจลักษณะ สำหรับประเทศไทย หากจะมุ่งเป้าพัฒนาเพื่อการส่งออกทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ต้องย้อนกลับไปดูทั้งในส่วนของ pre-production, production และ post-production เพื่อเติมเต็มช่องว่างที่ยังขาดอยู่ให้ครบวงจรภาพรวมในการสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ทาง บพค.ในฐานะหน่วยงานให้ทุน หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมงานกับผู้สนใจทุกท่านเพื่อสนับสนุนการให้ทุนภายใต้แผนงาน N38 การวิจัยขั้นแนวหน้าเพื่อรองรับความผันผวนทางสังคมในอนาคต ภายใต้โจทย์ Film, Fashion และ Festival เพื่อเติมเต็มช่องว่าง Gap ของอุตสาหกรรมที่ยังขาดไปดังที่ได้กล่าวมา และหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะมีส่วนได้เป็นกลไกหนึ่งในการผลักดันโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องให้เกิดเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการส่งออกทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนต่อไป