เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ศาสตราจารย์ ดร.ศักดา ดาดวง ดร.ธิดารัตน์ โกมลวานิช และ ดร.อ้อมใจ ไฑรเมฆ รวมทั้งนักวิเคราะห์โครงการ บพค. ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการ “การพัฒนาแพลตฟอร์มระบบนิเวศการศึกษาด้านอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิดการบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงานร่วมกับการศึกษาแบบมุ่งเน้นผลลัพธ์เพื่อพัฒนากำลังคนพร้อมใช้ในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” ภายใต้แผนงานการพัฒนาระบบรองรับการขยายผลหลักสูตรอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา ที่เชื่อมโยงสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมแบบบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน (Work-integrated Learning: WiL) โปรแกรม 1 สร้างระบบผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพ ประจำปีงบประมาณ 2564 ณ อาคาร Factory 9 บริษัท Cal-Comp จำกัด (มหาชน) จังหวัด เพชรบุรี
โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. คมกฤตย์ ชมสุวรรณ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและระบบการศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หัวหน้าโครงการฯ ได้กล่าวต้อนรับและนำเสนอภาพรวมของโครงการที่ได้ดำเนินการร่วมกับ 6 สถาบันการศึกษา ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร วิทยาลัยเทคโนโลยีพังโคนพณิชยการ วิทยาลัยเทคโนโลยีพิชญบัณฑิต และคณะครุศาสตร์อุตสากรรม มจธ. อีกทั้งได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบการ 4 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท สิงห์ เบเวอเรช จำกัด บริษัท ขอนแก่น บริวเวอรี่ จำกัด บริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งโครงการได้พัฒนาแพลตฟอร์มระบบนิเวศการศึกษาด้านอุตสาหกรรมออกเป็น 10 กระบวนการ มีกิจกรรมการพัฒนาผู้เรียน ประกอบด้วย
นอกจากนี้โครงการได้พัฒนานักศึกษาระดับปริญญาโท ให้มีทักษะ ความรู้ ความสามารถภายใต้หลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหกรรมมหาบัณฑิต ควบคู่กับกระบวนการพัฒนาการวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (RDI QS) และพัฒนานักศึกษาระดับปริญญาตรีและประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ด้วยการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรพัฒนาผู้เรียน
สำหรับระบบ WiL นี้จะกำหนดให้ครูพี่เลี้ยง/ครูเกื้อหนุน ซึ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโทครุศาสตร์อุตสาหกรรมเข้าไปทำงานในสถานประกอบ พร้อมทั้งดูแลและพัฒนานักศึกษาระดับปริญญาตรี และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) โดยคาดหวังว่าจะสามารถผลิตนักศึกษาที่มีทักษะความรู้สอดคล้องตามความต้องการกำลังคนในแต่ละระดับในภาคอุตสาหกรรม และสามารถพัฒนาโครงการวิจัยที่เป็นประโยชน์ให้กับสถานประกอบการได้
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการ บพค. และผู้ทรงคุณวุฒิ ได้หารือและแสดงความเห็นร่วมกันกับนักวิจัย โดยได้สอบถามรายละเอียดต่าง ๆ รวมถึงได้ให้ข้อคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ในการพัฒนาประยุกต์ใช้แพลตฟอร์ม ทั้งนี้การจัดทำแพลตฟอร์มดังกล่าว มีแนวโน้มที่จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับทุกสาขาวิชาที่มีความต้องการจะส่งเสริมนิเวศการเรียนรู้ให้มีความเข้มแข็งและเข้มข้น ตอบโจทย์ตรงกับตลาดแรงงานความต้องการของภาคเอกชนและอุตสาหกรรม