ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ รองผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ร่วมทีม คณะทำงานเจรจาสำหรับการประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ในการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ ประจำปี 2565 (United Nations Climate Change Conference: SB56) ระหว่างวันที่ 4 – 16 มิถุนายน 2565 ณ เมืองบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยการประชุม SB56 ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการเจรจาและตัดสินใจถึงแนวทางการดำเนินการประเด็นสำคัญในด้านการลดก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) การสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะด้านการเงิน และการสูญเสียและความเสียหาย เพื่อให้ตอบเป้าหมายของความตกลงปารีส (Paris Agreement) คือการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกในศตวรรษนี้ให้สูงขึ้นต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และผลักดันความพยายามในการจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้นไปอีก 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม
ดร.วรจิตต์ ร่วมกับทีมสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เป็นคณะทำงานเจรจาหลักสำหรับประเด็น กลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Mechanism) ในการประชุมองค์กรย่อยด้านการดำเนินงาน ครั้งที่ 56 (Subsidiary Body for Implementation: SBI 56) และ ประเด็น วิทยาศาสตร์และการทบทวน (Matters related to science and review) ในการประชุมองค์กรย่อยเพื่อให้คำปรึกษาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 56 (Subsidiary Body for Scientific and Technological Advice: SBSTA 56)
ทีมเจรจาให้ความเห็นในประเด็นกลไกด้านเทคโนโลยี โดยควรให้ความสำคัญที่เท่าเทียมกันให้กับทั้งเทคโนโลยี mitigation และ เทคโนโลยี adaptation โดยเน้นที่โอกาสและผลประโยชน์ร่วมกัน และควรสนับสนุนการพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ครอบคลุมในทุกๆ ขั้น (technology cycle) ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา การสร้างขีดความสามารถ การทดลอง การออกสู่เชิงพาณิชย์ และการแพร่กระจายต่อไปในวงกว้าง โดยผ่านการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และสร้างความเชื่อมโยงกับกลไกทางการเงินระดับนานาชาติ เช่น กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) และเชื่อมโยงกับภาคเอกชนผ่านโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นการเชื่อมกันระหว่างกลไกทางการเงินและกลไกทางเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สำหรับประเด็นวิทยาศาสตร์และการทบทวน ทีมเจรจา โดย ดร.วรจิตต์ ได้เสนอด้านการขยายระบบสังเกตการณ์สภาพอากาศและสร้างขีดความสามารถสำหรับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อให้สามารถเก็บข้อมูลและมีกระบวนการในการวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจ จำลอง และทำนายสภาพอากาศสำหรับประเทศและภูมิภาคของตน ควรให้ความสำคัญกับการแบ่งปันข้อมูลสภาพภูมิอากาศในรูปแบบนิเวศวิทยาศาสตร์แบบเปิด (open science eco-system) เพื่อให้สามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงนโยบายและการปฏิบัติ รวมทั้งควรส่งเสริมความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพอากาศผ่านการศึกษาในระบบและนอกระบบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับท้องถิ่นโดยเน้นที่การปรับตัว (adaptation) และการคืนสภาพ (resilience) ของชุมชน ในด้านการวิจัยควรสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาในหัวข้อ การลดการปล่อยคาร์บอน เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน หรือ Decarbonization, Carbon Capture, Utilization and Storage (CCUS) งานวิจัย adaptation ร่วมกับงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ตามบริบทของท้องถิ่น และงานวิจัยในด้านเทคโนโลยีเฉพาะถิ่นและเหมาะสม เช่น ในภาคเกษตรกรรมและเศรษฐกิจท้องถิ่น นอกจากนี้ ดร.วรจิตต์ ได้เสนอแนวคิดเรื่อง BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อเป็นแนวทางให้ประเทศแปรสภาพเป็นเศรษฐกิจมูลค่าสูงและขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ในขณะเดียวกันก็คำถึงถึงการอนุรักษ์ การใช้ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ
ทั้งนี้ผลสรุปการเจรจาจากการประชุม SB56 จะเป็นรากฐานสู่ความสำเร็จของการประชุม COP27 ระหว่างวันที่ 6-18 พฤศจิกายน 2565 ณ เมือง Sharm el-Sheikh ประเทศอียิปต์ ต่อไป
บพค. ในฐานะหน่วยงานบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน ได้เห็นความสำคัญในการพัฒนากำลังคนระดับสูงที่มีองค์ความรู้และคุณสมบัติตามมาตรฐานสากลเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในภาคเอกชนและภาครัฐ อีกทั้งยังส่งเสริมงานวิจัยขั้นแนวหน้าด้านการลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) สำหรับการขับเคลื่อนงานวิจัยด้าน Frontier BCG – Climate Change นอกจากนี้ บพค. ยังมีโปรแกรมเพื่อส่งเสริมให้นักวิจัยไทยมีบทบาทในเวทีโลกในการขับเคลื่อนนโยบายและเป้าหมายของโลก ดังนั้น การตอบเป้าหมายที่ท้าทายของความตกลงปารีส (Paris Agreement) ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน บพค. จึงมุ่งเน้นการสนับสนุนการพัฒนากำลังคนและงานวิจัยขั้นแนวหน้าในรูปแบบของ Consortium เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเป้าหมายร่วมกัน