เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในการประชุม “สภาวิจัยโลกระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” ครั้งที่ 22 (2022 Global Research Council – Asia Pacific Regional Meeting) จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) พร้อมด้วยหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยรายใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น Science and Technology Agency (JST) และ Japan Society for the Promotion of Science (JSPS) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2565 ที่โรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์ กรุงเทพมหานคร
สภาวิจัยโลกเป็นการรวมตัวของหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยจากทั่วโลกที่ริเริ่มมาจาก US National Science Foundation (NSF) เมื่อปี พ.ศ.2555 ปีนี้ถือเป็นปีแรกในหน้าประวัติศาสตร์ที่หน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยของประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพการจัดประชุม “สภาวิจัยโลกระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” มีผู้นำจากหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยชั้นนำระดับโลกจาก 17 ประเทศ ได้แก่ กาตาร์ สาธารณรัฐเกาหลี ซาอุดีอาระเบีย ญี่ปุ่น ติมอร์-เลสเต ไทย นิวซีแลนด์ บราซิล ฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ สาธารณรัฐประชาชนจีน สิงคโปร์ เวียดนาม ศรีลังกา อินโดนีเซีย อิหร่าน และอิตาลี เข้าร่วมประชุม โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเตรียมความพร้อมของหัวข้อและกรอบการประชุมสำหรับการประชุมประจำปีที่ผู้นำหน่วยงานให้ทุนจากทั่วโลกจะรวมตัวกันที่ประเทศเนเธอร์แลนด์กลางปีหน้า โดยเน้น 2 หัวข้อหลัก ได้แก่
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก (รมว.อว.) กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่เกิดขึ้นหลังจากการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพประสบความสำเร็จอย่างงดงาม แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการจัดประชุมนานาชาติในประเทศไทย โดยการประชุมเรื่องการวิจัยก็นับเป็นเรื่องสำคัญ เพราะประเทศไทยประกาศจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ภายใน 15 ปีข้างหน้า กระทรวง อว. มุ่งสนับสนุนให้คนไทยทุกคนเป็นนักวิจัย ทั้งที่เป็นนักวิจัยมืออาชีพและนักวิจัยมือสมัครเล่น โดยใช้ประโยชน์จากการวิจัยในเรื่องต่างๆ ทั้งในทางวิชาการขั้นสูงและในวิถีชีวิตประจำวัน เหมือนที่ ตนเองได้ฝึกปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่นการวิจัยเรื่องการทำงานให้ดี ประสบความสำเร็จ
นอกจากนั้น รมว.อว.ยังกล่าวปาฐกถาแสดงความสำคัญของความเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนให้เกิดผลกระทบวงกว้างต่อสังคม โดยเน้นย้ำความสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สามารถโตได้ด้วยเศรษฐกิจสองขา ขาแรกคือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอีกขาคือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งทั้งสองขานี้จะนำพาให้ประเทศต่างๆ เจริญก้าวหน้าได้เมื่อเกิดการทำงานร่วมกันที่เป็นสหวิทยาการ ตัวอย่างเช่น งานวิจัยเรื่องดินแดนสุวรรณภูมิที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากว่า 2,500-3,000 ปี เป็นการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีภาพถ่ายทางอากาศขั้นสูง (LiDAR) เพื่อวิเคราะห์สภาพทางกายภาพของโบราณสถานที่ถูกปกคลุม มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ถือเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ของไทยว่าเราอยู่ในดินแดนที่เก่าแก่มาหลายพันปี มิได้อายุเพียง 700 ปีตามที่เคยรับรู้มาจากหนังสือเรียนทั่วไป
ทั้งนี้ บพค. ในฐานะเจ้าภาพร่วมจัดงานได้เข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย. 65 ที่ผ่านมา โดย ผศ. ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ รองผู้อำนวยการ บพค. ได้ร่วมนำเสนอในฐานะหน่วยงานให้ทุนวิจัยใน Session 4: GRC Gender Working Group และในวันที่ 22 พ.ย. 65 ยังได้เป็นตัวแทนในฐานะ Session Chair ใน Session 6: Role of Global Research Council and Funding agencies in Tackling Climate Change โดยมีผู้ร่วมอภิปรายในหัวข้อดังกล่าวอาทิ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย Dr. He Jianjun (National Natural Science Foundation of China (NSFC)) Dr. Enrico Paringi (Executive Director, Philippine Council for Industry, Energy, and Emerging Technology Research and Development (DOST-PCIEERD)) และ Mr. Shigeo Morimoto (Vice President, Japan Science and Technology Agency (JST))
อย่างไรก็ตาม จากการประชุม “สภาวิจัยโลกระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” ครั้งที่ 22 (2022 Global Research Council – Asia Pacific Regional Meeting) ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพจัดงานได้แสดงให้เห็นบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลกในบทบาทของการบริหารและจัดการทุนวิจัยชาติเพื่อการสร้างเครือข่ายการให้ทุนวิจัยและส่งเสริมการสร้างงานวิจัยในระดับภูมิภาคและระดับโลก ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการทำงานร่วมกันจากกลุ่มผู้ให้ทุนวิจัยในประเทศสมาชิกเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอย่างมีทิศทางและมีประสิทธิภาพ ซึ่งผลผลัพธ์จากการประชุมนี้จะถูกส่งต่อเพื่อให้เกิดประเด็นหารือที่มีความชัดเจนในการทำงานร่วมกันมากยิ่งขึ้นในการประชุม GRC ครั้งที่ 11 ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์