เมื่อวันที่ 8 – 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และประธานคณะกรรมการบริหาร บพค. คุณสุวรรณี คำมั่น ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร บพค. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริปก พิศสุวรรณ รองผู้อำนวยการ บพค. และเจ้าหน้าที่ บพค. พร้อมด้วยคณะนักวิจัยและผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ ผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและหัวหน้าโครงการธัชวิทย์ ดร.วีระวัฒน์ แช่มปรีดา นักวิจัยอาวุโสจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จุฑารพ เพชระบูรณิน อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ และประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์ฟีโนม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศาสตราจารย์ ดร.ศักดา ดาดวง อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รองศาสตราจารย์ ดร.อิศรา ก้านจักร คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รองศาสตราจารย์ ดร.จารุณี ซามาตย์ อาจารย์ประจำศูนย์ความเป็นเลิศด้านโค้ดดิ้ง มหาวิทยาลัยขอนแก่น อ. ดร.หม่อมหลวงมานิดา ศุขสวัสดิ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติ และกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ศูนย์ฟีโนม มหาวิทยาลัยขอนแก่น รองศาสตราจารย์ ดร.พรสวรรค์ วงค์ตาธรรม รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คุณศิริศักดิ์ คชพัชรินทร์ กรรมการสภาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ คุณชยานนท์ อุลิศ กรรมการผู้จัดการบริษัท เกียร์เฮด จำกัด รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ แดงติ๊บ ผู้จัดการศูนย์วิศวกรรม และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ชั้นสูง และ ดร.นพพร พูลยรัตน์ หัวหน้าฝ่ายนิวเคลียร์ฟิวชันและพลาสมา สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) เดินทางไปศึกษาดูงานและดำเนินงานเชื่อมความสัมพันธ์ภายใต้หัวข้อ “Brainpower Capacity Building towards Frontier Research Consortium” ณ เมืองแทจอน และกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อประชุมสร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่ายต่างประเทศโดยการสนับสนุนทุนให้แก่นักวิจัย ผ่านโปรแกรมธัชวิทย์ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก บพค. เพื่อพัฒนากำลังคนในรูปแบบ Non-conventional Researcher Graduate ผ่าน Future Graduate Platform ด้วยการทำวิจัยระยะสั้นในสถาบันวิจัยต่างประเทศในอนาคตเป็นระยะเวลา 6 – 12 เดือน ทั้งนี้ กระบวนการศึกษาดูงานในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ หรือ Memorandum of Understanding (MOU) ระหว่าง บพค. จากฝั่งประเทศไทย และ University of Science & Technology (UST) จากฝั่งประเทศเกาหลีใต้ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2566 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ เพื่อเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันทั้งสองในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยมีกิจกรรมสำคัญ ๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น การแลกเปลี่ยนคณาจารย์และบุคลากร การแลกเปลี่ยนนักศึกษา กิจกรรมวิจัยและพัฒนาร่วมกัน การประชุมร่วมกัน การประชุมเชิงปฏิบัติการ สัมมนา เป็นต้น
ในวันแรกของกิจกรรมครั้งนี้ จะเป็นการเยี่ยมชมและประชุมหารือร่วมกับ University of Science & Technology (UST) ณ เมืองแทจอน เพื่อติดตามผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นหลังจากที่ บพค. ได้อนุมัติการจัดสรรเงินทุนวิจัยของโครงการธัชวิทย์เรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีสาขาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่
โดยมี Dr. Taek-mo Jung (Dean of External Relations) ให้การต้อนรับคณะเดินทาง บพค. พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ UST ที่เกี่ยวข้อง UST มีจุดเด่นที่เหมาะสำหรับนักศึกษาที่ต้องการศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ เนื่องจากมหาวิทยาลัยมุ่งมั่นที่จะผลิตนักวิจัยชั้นนำและผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง นักศึกษาจะได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ที่ทันสมัยและมีโอกาสได้ทำงานวิจัยร่วมกับนักวิจัยชั้นนำอย่างแท้จริง
โดยในที่ประชุม รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ฯ ได้เสนอความคิดตามกรอบความร่วมมือดังกล่าว นั่นคือ การจัดตั้งคณะกรรมการกำกับ MOU ร่วมกัน (Joint Committee) เพื่อกำกับ ควบคุม ติดตามและประเมินผลต่าง ๆ รวมถึงการกำหนดทิศทางภาพรวมของ MOU และการออกแบบกลไกการสร้างคนแบบ Non-conventional Researcher Graduate Model เพื่อเป็นการสร้างคนในรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากการสร้างคนตามระบบอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยปัจจุบัน ซึ่งเป็นการวางรากฐานในอนาคตเพื่อตอบโจทย์ภาคผู้ใช้บัณฑิตหรือยึดตามความต้องการฝั่ง Demand Side จากสถาบันวิจัยและภาคอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงในอนาคต โดยนำเสนอโครงการการส่งนักวิจัย (ผู้ช่วยวิจัย) มาเรียนรู้ฝังตัวทำวิจัยที่สถาบันต่าง ๆ ภายใต้การดูแลของ UST เป็นระยะเวลา 6 – 12 เดือน เพื่อนำความรู้ทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาพัฒนาและสร้าง eco-system ของหน่วยงานในประเทศ เป็นต้น
จากนั้น คณะเดินทาง บพค. ได้เดินทางเยี่ยมชมสถาบัน KRIBB (Korea Research Institute of Bioscience and Biotechnology) โดยสถาบัน KRIBB มีศูนย์วิจัยหลักที่เข้มแข็งอันประกอบด้วย ศูนย์วิจัยชีวโมเลกุล ศูนย์วิจัยชีวเคมีและชีววิทยาโมเลกุล ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ ศูนย์วิจัยชีววิทยาเชิงระบบ และศูนย์วิจัยจีโนมิกส์ โดยสถาบัน KRIBB จะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และบริษัทเอกชนในเกาหลีใต้และต่างประเทศ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกาหลีใต้กลายเป็นผู้นำระดับโลกด้านชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ ผลงานโดดเด่นของ KRIBB อาทิ เช่น การพัฒนายาต้านมะเร็งใหม่ การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดต่อ การค้นพบยีนใหม่ที่มีความสำคัญต่อสุขภาพมนุษย์ เป็นต้น ทั้งนี้เป็นนิมิตหมายอันดีที่ทีมวิจัยจากคณะเดินทาง บพค. ได้แลกเปลี่ยนและกำหนดทิศทางร่วมกันกับ KRIBB ถึงความเป็นได้ในการแลกเปลี่ยนนักวิจัย/ผู้ช่วยวิจัยมาเรียนรู้ผ่านงานวิจัยในระยะสั้น ๆ เป็นต้น
ต่อมา คณะเดินทาง บพค. ได้เข้าเยี่ยมชมสถาบันพลังงานฟิวชันแห่งชาติเกาหลีใต้ (Korea Institute of Fusion Energy : KFE) สถาบันที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชันให้เป็นแหล่งพลังงานที่ปลอดภัย ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมี Dr. Si-Woo Yoon รองประธาน KFE พร้อมคณะผู้บริหารหน่วยงานภายใต้สถาบันให้การต้อนรับคณะเดินทางของ บพค. ซึ่ง KFE มีหน้าที่หลัก ๆ คือ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชันและพลาสมา รวมถึงการพัฒนาระบบการให้ความร้อน การควบคุม และการวินิจฉัย การที่ได้โอกาสเป็นส่วนหนึ่งในโครงการของ ITER เพื่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์ฟิวชันที่ใช้งานได้จริง เป็นต้น ทั้งนี้ จากความสำเร็จของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) (Thailand Institute of Nuclear Technology : TINT) ที่ได้ทำข้อตกลงและลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกันกับ KFE เมื่อครั้งก่อนเพื่อดำเนินโครงการวิจัยร่วมและแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างสองสถาบันนั้น ทำให้ครั้งนี้จะเป็นเรื่องของการเร่งผลักดันการสนับสนุนจากภาครัฐและสถาบันต่าง ๆ รวมถึงกิจกรรมความร่วมมือระหว่างประเทศและพันธมิตร เช่น การสัมมนา การประชุมเชิงปฏิบัติการ และการแลกเปลี่ยนนักศึกษาในด้านเทคโนโลยีฟิวชันและพลาสมา อีกทั้งจำเป็นต้องสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการผลิตพลังงานจากพลาสมาในกลุ่ม Young Researcher เพื่อเพิ่มโอกาสให้แก่คนกลุ่มนี้สามารถเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมเทคโนโลยีพลาสมาในรูปแบบ Short-term Research Training โดยมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนนักวิจัย/ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจำเป็นต้องมีการผลักดันในระดับสถาบัน-สถาบันต่อไป ทั้งนี้ การสนับสนุนจาก บพค. และ TINT จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือในอนาคต และเป็นโมเดลสำคัญในการสร้างระบบนิเวศสำหรับการพัฒนากำลังคนที่มีศักยภาพสูง เป็นตัวอย่างรูปแบบใหม่ให้กับประเทศชาติ และเป็นแพลตฟอร์มที่ยั่งยืนต่อไป
นอกจากนี้ ทีมคณะนักวิจัยและเจ้าหน้าที่ บพค. ยังได้เข้าเยี่ยมชม Korea Manhwa Museum ณ เมืองปูชอน โดยมี Mr. Cho Kwan-je ประธานของ Korea Manhwa Contents Agency ให้การต้อนรับคณะผู้เดินทาง บพค. โดยเป็นพิพิธภัณฑ์ที่อธิบายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของการกำเนิดขึ้นของเว็บตูน (Webtoon) อันมีรากฐานมาจากวัฒนธรรมการอ่านหนังสือการ์ตูนมังงะของประเทศญี่ปุ่น โดยคำว่า Manhwa (อ่านว่า มันฮวา) หมายถึง การ์ตูนของเกาหลี ในอดีตจะเป็นการวาดภาพการ์ตูนด้วยมือประกอบคำอธิบาย ต่อมาได้มีวิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นจนก่อให้เกิดเป็นการอ่านผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นมือถือ ซึ่งผู้อ่านเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ลดปริมาณการผลิตกระดาษเป็นสิ่งพิมพ์ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น ตลอดจนการพัฒนาคอนเทนต์สู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ อันมีส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลในยุคศตวรรษที่ 21 ปัจจุบันนี้มูลค่าการตลาดของเว็บตูนในเกาหลีใต้สูงถึง 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับว่ามีมูลค่ามากกว่าอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลี (K-POP) ด้วย นอกจากบริเวณพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงนิทรรศการของมันฮวาแล้ว ยังมีส่วนที่เป็นศูนย์การเรียนรู้อย่าง Korea Manhwa Webtoon Academy (KMWA) ที่มุ่งสร้างกำลังคนด้านความคิดสร้างสรรค์ส่งเสริมอุตสาหกรรมหลักของประเทศ โดยมีภารกิจหลัก ๆ 3 ประการ ได้แก่ 1) สนับสนุนการสร้างสรรค์ผลงาน (Content) 2) สนับสนุนการเพิ่มทักษะการสร้างสรรค์ผลงานให้กับนักออกแบบ/รังสรรค์ผลงาน (Upskill) 3) สนับสนุนการทำธุรกิจด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเป็นหน่วยงานที่รับงบประมาณตรงจากรัฐบาลในการผลักดันอุตสาหกรรมนี้ โอกาสนี้ ยังมีความร่วมมือระหว่างไทย-เกาหลีในการจัดอบรมผู้ที่ต้องการเพิ่มทักษะในการคิดค้นเนื้อหาและนักวางแผนร่วมกันเป็นระยะ ๆ โดยผู้เชี่ยวชาญจากเกาหลีใต้เป็น Trainer ให้แก่นักสร้างสรรค์ของไทย อันจะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทศต่อไป