บพค. ในบทบาทภารกิจของหน่วยให้ทุนภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ร่วมประกาศการจัดตั้งและสร้างเครือข่ายด้านการ ดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอนของไทย (TCCA) เพื่อสร้างเครือข่าย TCCA เชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาควิชาการสู่การปฏิบัติจริง ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากโครงการและเครือข่ายต่างชาติ เพื่อเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วยนักวิเคราะห์ บพค. ได้รับเกียรติกล่าวเปิดและเข้าร่วมการประชุมสัมมนาและระดมสมองแนวทางการจัดตั้งเครือข่ายพันธมิตรด้านการดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอนแห่งประเทศไทย (Thailand CCUS Alliance: TCCA) จัดโดย เครือข่ายพันธมิตรด้านการดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอนแห่งประเทศไทย (Thailand CCUS Alliance: TCCA) และกลุ่มวิจัยการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Chiang Mai CCS) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อประกาศการจัดตั้งและสร้างเครือข่ายด้านการ ดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอนของไทย (TCCA) และ แลกเปลี่ยนความรู้และเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมกับภาควิชาการสู่การปฏิบัติจริง ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากโครงการ ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิจัยต่างชาติหลากหลายประเทศที่มีประสบการณ์ดำเนินการจริง ณ ห้องนครรังสิต 1-2 ชั้น 1 โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต จังหวัดปทุมธานี
ภายในงานสัมมนาฯ ได้รับเกียรติจาก คุณครองขนิษฐ รักษ์เจริญ อธิบดีกรมยุโรป กล่าวต้อนรับ อีกทั้ง ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญในวงการ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ อาทิ ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มเศษฐกิจหมุนเวียน บพข. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัชวาลย์ ชัยชนะ หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.ขจรศักดิ์ เฟื่องนวกิจ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) สวทช. รองศาสตราจารย์ ดร.สุพฤทธิ์ ตั้งพฤทธิ์กุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเครือข่ายนักวิจัยจากต่างประเทศ ได้แก่ เดนมาร์ก นอร์เวย์ เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย รวมไปถึงภาคเอกชนที่ร่วมระดมสมองแนวทางการจัดตั้งเครือข่ายพันธมิตรฯ ร่วมกัน จาก SCG และ PTTEP ด้วย
ประเทศไทยให้คำมั่นต่อเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) โดยในปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2566) ประเทศไทยได้มีแผนที่นำทางเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน เพื่อนำทางประเทศไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage Technology Roadmap: CCUS TRM) ซึ่งระบุเทคโนโลยีหลักที่ต้องเกิดขึ้น ตามลำดับเวลาและปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต้องดักจับ ใช้ประโยชน์ และ/หรือกักเก็บอย่างถาวร ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี CCUS ได้เสนอให้ระบบนิเวศ CCUS ของไทย มีเครือข่ายความร่วมมือสาธารณะ (Public Consortium) เป็นเครือข่ายเดียว เพื่อช่วยให้นักลงทุนหรือผู้ใช้เทคโนโลยีได้เข้าถึงผู้พัฒนาเทคโนโลยีหรือนักวิจัยหลักในแวดวงวิชาการได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเช่นเดียวกับประเทศชั้นนำอื่น