เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริปก พิศสุวรรณ รองผู้อำนวยการ บพค. เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “แพลตฟอร์ม Eng Lab For Film บนพื้นที่เสมือนจริงเพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษสำหรับของกำลังคนในอุตสาหกรรมภาพยนต์ของไทย” ณ ห้องอินฟินิตี้ (Infinity) ชั้น G โรงแรม PULLMAN BANGKOK POWER กรุงเทพมหานคร โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.อรทัย เพียยุระ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและหัวหน้าโครงการวิจัยโครงการการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของกำลังคนในอุตสาหกรรมภาพยนต์ไทยบนพื้นที่เสมือนจริง กล่าวต้อนรับและรายงานวัตถุประสงค์ของงาน ซึ่งจัดขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพกำลังคนในอุตสาหกรรมภาพยนต์ไทย และเพิ่มโอกาสให้แรงงานไทยสามารถพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ เพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานระดับสากล รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการทำงานกับกองถ่ายต่างประเทศได้ ผ่านการสื่อสารที่เข้าใจและป้องกันการกดขี่จากข้อจำกัดของภาษา โดยมีผู้ร่วมงานมากกว่า 300 คน
ภายในงานมีการจัดกิจกรรมทดลองใช้ห้องเรียน VR- Metaverse และกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “แนวทางการพัฒนากำลังคนด้านอุตสหกรรมภาพยนต์สู่เวทีโลก” โดยมีวิทยากร ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริปก พิศสุวรรณ รองผู้อำนวยการ บพค. คุณศิริศักดิ์ คชพัชรินทร์ รองประธานสมาพันธ์สมาคมภาพยนต์แห่งชาติ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคุณปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับภาพยนต์ไทย นักเขียนบท และผู้ควบคุมการก่อสร้าง ซึ่งการเสวนาได้มีการพูดคุยบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน ข้อจำกัดหรือจุดอ่อนของภาพยนต์ไทย และแนวทางการพัฒนากำลังคนด้านอุตสาหกรรมภาพยนต์ไทยสู่เวทีโลก ทั้งนี้ได้พบว่าข้อจำกัดของอุตสหกรรมภาพยนต์ไทยมีทั้งงบประมาณการผลิตภาพยนต์รวมไปถึงการผลิตกำลังคนในอุตสาหกรรมภาพยนต์ไทยตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ
บพค. ในฐานะหน่วยบริหารและจัดการทุน ภายใต้กองทุนส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่รับผิดชอบแผนงานการพัฒนากำลังคนทักษะสูงให้ตรงต่อความต้องการของประเทศ ซึ่งมีพันธกิจสอดคล้องตามนโยบายการพัฒนาทักษะแรงงานของคนไทยให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศให้เทียบเท่าระดับสากล พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาบุคลากรของอุตสหกรรมภาพยนต์ของประเทศไทยในเรื่องทักษะภาษาอังกฤษ ซึ่งทาง บพค. ได้เล็งเห็นว่า การสร้างคนให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมภาพยนต์ไทยที่กำลังเติบโตอยู่ในขณะนี้จะสามารถเป็นจุดคานงัดใหม่ของประเทศไทยได้